ECO & ESG
เอบีมคอนซัลติ้งหนุนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zeroด้วยโซลูชันรายงานGHG

กรุงเทพฯ-ในยุค ‘โลกเดือด’ (Global Boiling) ที่โลกเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สังคมมนุษย์จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม รวมถึงวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศโดยด่วนที่สุด มิฉะนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเกินจุดที่สามารถเยียวยาได้ การชะลอและบรรเทาความรุนแรงของวิกฤตโลกร้อนจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
หนึ่งในความพยายามครั้งสำคัญที่สุดของประชาคมโลก คือการจัดทำ “ความตกลงปารีส (Paris Agreement)” ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Greenhouse Gas Emissions (GHG Emission)
ข้อตกลงฉบับนี้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้อยู่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการวางรากฐานแนวคิดใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ที่มิได้มุ่งเพียงแค่ผลกำไร แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนของโลกและอนาคตที่มั่นคงสำหรับสังคมโดยรวม
ผลจากความตกลงปารีสได้นำไปสู่การออกมาตรการหลากหลายที่ส่งเสริมและผลักดันให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงหลักความยั่งยืนเป็นสำคัญ หนึ่งในเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกิจกรรมขององค์กรที่ใช้เป็นมาตรวัตในการช่วยกำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมขององค์กรคือ “รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” (GHG Inventory Report) เป็นรายงานที่คำนวณและวิเคราะห์ว่าแต่ละกิจกรรมขององค์กรของก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด ซึ่งประเมินผลกระทบจากกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ขององค์กร
สำหรับประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนต้องจัดทำและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นระบบ รายงานนี้ไม่เพียงเป็นการแสดงความโปร่งใสด้านสิ่งแวดล้อม หากยังเป็นส่วนสำคัญของการประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และสะท้อนความรับผิดชอบขององค์กรภายใต้กรอบ ESG ที่กำลังกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของโลกธุรกิจ
ข้อบังคับดังกล่าวสร้างแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานซึ่งต่างจำเป็นต้องปรับตัวและเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นข้อกำหนดผูกมัดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่ได้ตกอยู่ที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งอีกต่อไป แต่กระจายไปยังทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดแรงผลักดันที่เข้มข้นจากภาครัฐ เพื่อเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง สู่ระบบธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น แม้แรงกดดันนี้จะส่งผลต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง แต่ก็ถือเป็นแรงสั่นสะเทือนครั้งสำคัญที่จะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับโลกใบนี้ในระยะยาว
คุณจรรยา ชื่นจิตต์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Sustainability Transformation บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนในงานสัมมนา “Empowering Sustainability - Digitalizing GHG Emission Monitoring and Reporting for Enhanced Accuracy and Compliance” ว่าหลายครั้งที่บริษัทต้องพบกับอุปสรรคในการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่หลายองค์กรต้องเผชิญ
“แม้ว่ารายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องดำเนินการจัดทำ แต่ในทางปฎิบัติกลับพบข้อจำกัดและอุปสรรคอยู่ไม่น้อย ทั้งในด้านมาตรฐาน วิธีการ และความเข้าใจที่ยังไม่เท่าเทียมกันระหว่างองค์กร ซึ่งความคลาดเคลื่อนเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อความแม่นยำของรายงานเท่านั้น หากยังอาจก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัวจากกระบวนการที่จัดทำอย่างไม่ถูกวิธี” คุณจรรยากล่าว
คุณจรรยา กล่าวเสริมว่า หนึ่งในอุปสรรคที่พบได้บ่อยและมักจะเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ในการจัดทำรายงาน คือความไม่สอดคล้องของข้อมูลที่ใช้ในแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข้อมูล มาตรฐานที่ใช้ หรือหน่วยวัดที่แตกต่างกัน รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นรายงานที่แต่ละบริษัทต้องจัดทำขึ้นเองและมีการส่งต่อข้อมูลต่อเนื่องกันเป็นทอด ๆ ตามห่วงโซ่อุปทาน แต่ในความเป็นจริง บริษัทหนึ่งอาจใช้หน่วยวัดเป็นกิโลกรัม ขณะที่ซัพพลายเออร์อีกรายใช้หน่วยแกลลอน ความแตกต่างเหล่านี้ แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อนำข้อมูลมาใช้ร่วมกันโดยไม่ผ่านการปรับมาตรฐานให้สอดคล้อง ก็สามารถก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่รายงานได้” นอกจากนี้ วิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ยังคงพึ่งพาการบันทึกด้วยมือ (Manual) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงหรือ Human Error ทั้งในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลและการคำนวณ ซึ่งล้วนส่งผลต่อความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ และอาจนำไปสู่การรายงานข้อมูลที่ผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ
แม้ว่าองค์กรจำนวนมากจะตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเร่งพัฒนาระบบการจัดทำรายงานให้มีประสิทธิภาพ แต่ในทางปฏิบัติกลับต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน คุณจรรยาได้สะท้อนถึง 3 อุปสรรคหลักที่มักเกิดขึ้นในการดำเนินงานนี้
ประการแรกคือ การขาดการวางแผนที่ดีพอ บางองค์กรยังไม่มีประสบการณ์หรือความเข้าใจเพียงพอเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้กระบวนการที่ตั้งใจจะลดการปล่อยคาร์บอนกลับกลายเป็นกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรมากเกินความจำเป็น และอาจสร้างคาร์บอนเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ประการที่สอง คือการประมวลข้อมูลที่ไม่มีความเชื่อมโยงเป็นระบบ แม้องค์กรจำนวนมากจะเก็บข้อมูลไว้ในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ขาดการออกแบบระบบข้อมูลให้รองรับการใช้งานต่อเนื่อง ทำให้เมื่อถึงเวลาต้องรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น ซัพพลายเออร์หลายเจ้า หรือจากหน่วยธุรกิจต่าง ๆภายในองค์กร ข้อมูลกลับไม่สอดคล้องกันและส่งผลให้เกิดความล่าช้า ความคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจทำให้รายงานขาดความน่าเชื่อถือในภาพรวม
ประการสุดท้าย ซึ่งเป็นความท้าทายที่แท้จริงในการจัดทำรายงาน เพราะการเก็บข้อมูลบางส่วนเป็นไปได้ยาก ในรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีการแบ่งส่วนของรายงานออกเป็น Scope 1-3 แบ่งตามกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่
·Scope 1: ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดยตรงจากกิจกรรมที่ควบคุมได้ภายในองค์กร ช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต
·Scope 2: การปล่อยก๊าซทางอ้อมจากการใช้พลังงานจากภายนอกเพื่อการปฏิบัติงานภายใน เช่น พลังงานไฟฟ้า หรือ พลังงานไอน้ำ เป็นต้น
Scope 3: การปล่อยก๊าซทางอ้อมจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กรโดยตรง เช่น การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย ข้อมูลกิจกรรมของซัพพลายเออร์ หรือหน่วยงานที่อยู่ภายนอก และไม่สามารถควบคุมโดยตรง ทำได้เพียงขอความร่วมมือในการส่งต่อข้อมูลเพื่อให้บริษัทนำมาต่อยอดในการจัดทำรายงานต่อไป
ซึ่ง Scope 3 นี่เองที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุด เพราะต้องพึ่งพาความร่วมมือจากภายนอก และไม่มีการบังคับใช้โดยตรง องค์กรจึงอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงตามมาตรฐานที่ใช้
เพื่อลดอุปสรรคเหล่านี้ คุณจรรยา เสนอทางออกที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายทั้ง 3 ไปได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี “ GHG Reporting & Management” เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ เครื่องมือนี้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากส่วนงานต่างๆภายในองค์กร และจากซัพพลายเออร์ภายนอกเข้าสู่ระบบเดียว ผ่านการทำ Digital Transformation (DX) พร้อมจัดเก็บแบบอัตโนมัติและเรียลไทม์
ข้อดีคือ องค์กรจะสามารถวิเคราะห์ วางแผน และจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดภาระการทำงานซ้ำซ้อน ลดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ และยังสามารถดึงข้อมูลจากซัพพลายเออร์ที่ใช้มาตรฐานต่างกันมารวมในรูปแบบที่องค์กรต้องการได้ทันทีในโลกที่ข้อมูลคือรากฐานของการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่คือเครื่องมือสำคัญขององค์กรในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน
เมื่อองค์กรสามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลได้สำเร็จ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ถูกจัดเก็บเข้าระบบอย่างแม่นยำและรวดเร็วในการสร้างรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ เครื่องมือ “ GHG Reporting & Management” นี้ช่วยให้การจัดทำแบบฟอร์มรายงานสามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติจากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ลดภาระด้านเวลา ความซับซ้อน และความผิดพลาดในการรวบรวมข้อมูล
เครื่องมือดังกล่าวยังรองรับการนำเข้าข้อมูลจากซัพพลายเออร์หลายรายในเวลาเดียวกัน พร้อมความสามารถในการจัดการข้อมูลที่มีมาตรฐานต่างกันให้อยู่ในรูปแบบเดียวอย่างทันที ถือเป็นคำตอบสำหรับการบริหารข้อมูลจำนวนมากอย่างเป็นระบบ และเป็นรากฐานของการสร้างรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เชื่อถือได้ในระดับสากล
การทำ Digital Transformation (DX) นี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การลดงานซ้ำซ้อน ลดการพึ่งพาเอกสารที่ใช้เวลานาน และปรับกระบวนการให้คล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญ DX ยังทำหน้าที่เสมือนระบบ Health Check ขององค์กร ช่วยให้ผู้บริหารสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ค้นหาจุดอ่อนที่อาจซ่อนอยู่ รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกที่อาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยกระบวนการเดิม เพื่อวางแผนปรับปรุงหรือพัฒนาการทำงานได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยจัดลำดับความสำคัญของงาน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารทรัพยากรบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้าย การจัดทีม หรือการยกระดับทักษะของพนักงานให้สามารถทำงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น
โดยภาพรวม การดำเนินการ Digital Transformation (DX) จึงไม่ใช่เพียงหนึ่งในทางเลือกหรือโซลูชันที่องค์กรอาจพิจารณา แต่เป็นยุทธศาสตร์หลักที่จำเป็นสำหรับองค์กรที่ต้องการเติบโตอย่างมั่นคง ท่ามกลางบริบทของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน DX ไม่เพียงยกระดับประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร แต่ยังช่วยจัดระเบียบและบริหารคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่กระจัดกระจายให้เป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions Report) ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และพร้อมต่อการตรวจสอบ ช่วยเสริมความพร้อมขององค์กรในด้านความโปร่งใสและการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพเอบีม คอนซัลติ้ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation พร้อมสนับสนุนองค์กรในทุกขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ในทุกส่วนสำคัญทางธุรกิจ ตั้งแต่การวิเคราะห์ วางกลยุทธ์ ออกแบบระบบ ไปจนถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระดับปฏิบัติการ เพื่อส่งมอบโซลูชันที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของแต่ละองค์กร ให้สามารถปรับตัว รับมือกับความท้าทาย และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในยุคที่เทคโนโลยีเคลื่อนไหวเร็วกว่าที่ เคยเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันและเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคตอย่างยั่งยืน