Digitel Tech & AI

Whoscallปล่อยฟีเจอร์SOSช่วยเหลือ ช่วยเหยื่อถูกหลอกโอนเงินช่วงวิกฤต



กรุงเทพฯ, 3 กรกฎาคม 2568 – บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่นชั้นนำ (TrustTech) และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall เดินหน้ายกระดับมาตรการป้องกันภัยมิจฉาชีพในโลกดิจิทัล ด้วยการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ล่าสุด “SOS ขอความช่วยเหลือ” ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างครอบคลุมและทันท่วงที โดยช่วยเหลือผู้ใช้งานที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน ผ่านขั้นตอนสำคัญต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนในแอปเดียว

ในปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ซึ่งระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 27 มิถุนายน 2568 มีผู้เสียหายโทรแจ้งเหตุผ่านศูนย์รวมกว่า 1.85 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยมากกว่า 3,000 ครั้งต่อวัน ขณะที่สามารถ อายัดบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพได้แล้วกว่า 739,000 บัญชี ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่กำลังลุกลามในสังคมไทยอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภัยคุกคามออนไลน์มีพัฒนาการและวิธีการหลอกลวงที่ซับซ้อนมากขึ้น อาทิ

• การหลอกให้ลงทุนผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Messenger และ LINE
• การหลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล
• การข่มขู่ทางโทรศัพท์จนผู้รับสายเกิดความกลัวและยอมโอนเงิน
• การหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษหรือรายได้เสริม

จากข้อมูลในช่วงเดียวกัน พบว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นสูงถึงกว่า 21,849,222 บาท สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ประชาชนรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาฟีเจอร์  “SOS ขอความช่วยเหลือ” โดย Whoscall ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้งานในยามฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ และครบทุกขั้นตอนในแอปเดียว

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) กล่าวว่า  “Whoscall ยึดมั่นพันธกิจในการปกป้องผู้ใช้งานจากภัยมิจฉาชีพทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตหลังจากที่ผู้ใช้งานรู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับเหตุการณ์ไม่ปกติจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจและดำเนินการอย่างรวดเร็ว ฟีเจอร์ “SOS ขอความช่วยเหลือ” จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือผู้ใช้งานในสถานการณ์เร่งด่วน ตั้งแต่การอายัดบัญชี ไปจนถึงการแจ้งความออนไลน์หรือแจ้งความกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ได้ครบจบในแอปเดียว”

ฟีเจอร์ “SOS ขอความช่วยเหลือ” ที่ Whoscall ได้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยให้แก่ผู้เสียหายได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย โดยครอบคลุม 2 ขั้นตอนหลักในการจัดการสถานการณ์เมื่อผู้ใช้งานตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ ได้แก่

  1. การติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชี
    Whoscall ได้รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของธนาคารและผู้ให้บริการวอลเล็ทชั้นนำในประเทศไทยไว้ในที่เดียว เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถติดต่ออายัดบัญชีของตนเองและบัญชีมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็วที่สุด พร้อมรับ
    “เลขที่อ้างอิง” (Bank Case ID) สำหรับใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความต่อไป

  2. การแจ้งความออนไลน์หรือติดต่อศูนย์ AOC (สายด่วน 1441)
    หลังจากได้ Bank Case ID ฟีเจอร์จะแนะนำช่องทางการแจ้งความออนไลน์กับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ผ่านสายด่วน 1441 พร้อมให้คำแนะนำในการเตรียมข้อมูลที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถดำเนินการแจ้งความได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน

“จากจำนวนผู้เสียหายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เราจึงมีความมุ่งมั่นในการคิดค้นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เรามองว่า ฟีเจอร์ “SOS ขอความช่วยเหลือ” จึงไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เราตั้งใจจะดูแลชีวิตผู้คนให้ปลอดภัยขึ้นในโลกออนไลน์” นายแมนวู กล่าวเสริม

นอกจากนี้ Whoscall ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องมือและฟีเจอร์อื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นระบบแสดงข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ การแจ้งเตือนเบอร์ต้องสงสัย และการกรองข้อความ SMS ที่อาจเป็นอันตราย ทั้งนี้ Whoscall มุ่งหวังให้คนไทยทุกคนตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย โดยเริ่มต้นจากการปกป้องตนเองและคนรอบข้างด้วยการใช้เทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือและเข้าถึงได้จริง