ECO & ESG
ชัยภูมิอำเภอซับใหญ่เป็น'อำเภอธนาคาร น้ำใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย'

ชัยภูมิ-วันนี้คณะอนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินด้านการจัดการภัยพิบัติระดับชาติ ในคณะทำงานของท่าน พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดชัยภูมิ ประธานคณะทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่า มีกำหนดการจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อหาทุนสมทบจัดซื้อปูนซิเมนต์ สำหรับทำฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ในวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2568 ณ วัดโป่งขุนเพชร หมู่ 3 ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นโครงการ/กิจกรรมต่อยอดจากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานในพื้นที่อำเภอเทพสถิตและอำเภอซับใหญ่ เมื่อวันที่ 21-24 มกราคม 2568
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 การทำธนาคารน้ำใต้ดิน อำเภอซับใหญ่ ได้มีการจัดฝึกอบรมให้แก่ ผู้นำต้นแบบที่จัดตั้งจากกลุ่มผู้สนใจ และผู้นำท้องที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 3 ตำบล 37 หมู่บ้าน จำนวน 111 คน ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงมือทำจริงจัง จำนวน 1 ราย คือ นายนันทพล กลิ่นแก้ว “โครงหนองนา นันทพล” บ้านหนองยางพัฒนา หมู่ 7 ตำบลตะโกทอง อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ในแปลงเกษตร จำนวน 220 หลุม และมีการขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอีก 2-3 ราย ส่วนระดับหมู่บ้าน คือบ้านซับห่าง หมู่ 9 ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับบริษัทชัยภูมิ วิน ฟาร์ม จำกัด ทำธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 30 หลุม ในพื้นที่ป่าชุมชนนำร่องไปก่อนในแปลงเนื้อที่ 3 ไร่ พร้อมกับปลูกต้นไม้ 600 ต้น เป็นต้น
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดชัยภูมิ ประธานคณะทำงานของคณะอนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินด้านการจัดการภัยพิบัติระดับชาติ ได้ปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ในท้องที่อำเภอซับใหญ่ กับนายณัฐพศุตม์ โชติจิรศิริกุล นายอำเภอซับใหญ่ ได้ข้อสรุปว่า จะร่วมกันทำให้อำเภอซับใหญ่ เป็น “อำเภอธนาคารน้ำใต้ดิน แห่งแรกของประเทศไทย” ที่ทำเรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นอย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 – วันที่ 3 ตุลาคม 2568 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงพื้นที่อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้และอำเภอซับใหญ่ จะเป็นอำเภอแห่งแรกของประเทศไทยที่ทำเรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน” เต็มพื้นที่ทั้งอำเภอ ครบทุกครัวเรือน ๆ ละ 36 หลุม ทั้งอำเภอยอดหลักฐานทะเบียนราษฎร จำนวน 6,071 ครัวเรือน ดั้งนั้น หากเสร็จสิ้นโครงการ จะมีธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่อำเภอซับใหญ่ จำนวนประมาณ 218,556 หลุม และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.30-15.30 น. ได้จัดประชุมบรรยายให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันตามเจตนารมณ์ แก่หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำต้นแบบอำเภอซับใหญ่ จำนวน 150 คน พร้อมบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ทำ MOU ณ หอประชุมอำเภอซับใหญ่ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางบรรยายพิเศษ จากนั้นจะมีการทำพิธี “Kick off” และการฝึกปฏิบัติจริง ณ จุดบ้านพักนายอำเภอซับใหญ่ จำนวน 10 จุด ๆ ละ 3 หลุม รวมเป็น 30 หลุม
หลังจากนั้น ส่วนราชการ ภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน กลับไปขยายผลต่อเนื่องในพื้นที่ของตนเอง โดยมีเป้าหมายแห่งความสำเร็จ ดังนี้
เป้าหมายการขับเคลื่อน : ใน 1 สัปดาห์ แต่ละครัวเรือนลงมือทำธนาคารน้ำใต้ดิน 3 หลุม (1 ชุด) และสัปดาห์ที่ 2 – 4 ลงมือทำสัปดาห์ละ 3 หลุม ใน 1 เดือนมี 4 สัปดาห์ จะได้ครัวเรือนละ 12 หลุม/1 สัปดาห์ ดังนั้น 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2568) จะมีธนาคารน้ำใต้ดิน 36 หลุม/ครัวเรือน
กล่าวคือ อำเภอซับใหญ่ มี 3 ตำบล 37 หมู่บ้าน 6,071 ครัวเรือน ๆ ละ 36 หลุม ในระยะเวลา 3 เดือน จะมีผลงานเป็นธนาคารน้ำใต้ดินตามที่ต้องการ จำนวนยอดรวม 218,556 หลุม จากนั้นอำเภอจะทำการมอบรางวัลให้แก่ผู้ทำธนาคารน้ำใต้ดินได้จำนวนมากที่สุด พร้อมร่วมกันประกาศให้อำเภอซับใหญ่ เป็น “อำเภอธนาคารน้ำใต้ดิน แห่งแรกของประเทศไทย” ตามเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนชาวอำเภอซับใหญ่ เพื่อเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน