In Thailand
เครือข่ายผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าศรีสะเกษ ร่วมงานยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ

ศรีสะเกษ-เมื่อเร็วๆ ที่โรงแรมรอแยลเบญจา กทม. นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดอบรมการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ระยะที่ 2 โดยมีนางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ พร้อมด้วยนายทวีวัฒน์ อารีย์พงศา ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณท์ชุมชน นายฉัตรชัย ไชยโยธา ประธานเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าจังหวัดศรีสะเกษ ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา คณะอาจารย์จากสถาบันการศึกษา และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้บริหารสถานศึกษา สกร. ครู สกร. และผู้เกี่ยวข้อง
เข้าร่วมการอบรม ในระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 3 กรกฎาคม 2568 ทั้งนี้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ตามแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างทักษะความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรับรองสิทธิ อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการตลาดและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เกิดทักษะการเรียนรู้ด้านการจัดทำแผนธุรกิจชุมชน พร้อมทั้งกิจกรรมลงมือปฎิบัติจริง (Workshop) ในการออกแบบโลโก้ ฉลากสินค้าแบรนด์สินค้าและบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่สวยงามและเหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท ตามลำดับ ภายใต้คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สอดคล้องตามแผนการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้
นอกจากนี้ กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ยังได้พัฒนากลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทั้งในรูปแบบศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน การสร้างครูและวิทยากรต้นแบบ การจัดทำหลักสูตรฝึกอาชีพเฉพาะทาง ตลอดจนการส่งเสริมการตลาดและการสร้างเรื่องเล่าผลิตภัณฑ์ (Product Storytelling) เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันและขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดที่กว้างขึ้น เพราะเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงาน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้ที่มั่นคง มีทักษะที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ และเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของตนเอง
ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็ง และประเทศที่มีรากฐานแห่งการเรียนรู้อย่างมั่นคงและยั่งยืน การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนของ สกร. จึงไม่เพียงเป็นการฝึกอบรมอาชีพ แต่เป็นกระบวนการสร้างชีวิต สร้างทักษะ และสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยในสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการยกระดับคุณภาพชีวิตที่แท้จริง และการส่งเสริมทักษะและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่นำไปสู่การนำเสนอ เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้ง 77 ผลงาน ที่เป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาด้านทักษะอาชีพ ให้แก่บุคลากรและประชาชน ที่ตอบโจทย์ตลาดและความต้องการของผู้บริโภค โดยการทดลองตลาดในห้วงต้นเดือนกันยายน 2568 ต่อไป
ข่าว/ภาพ .... บุญทัน ธุศรีวรรณ