In Global

ความสำเร็จของลาบูบู้สะท้อนการใช้จ่าย ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘อารมณ์’



ปักกิ่ง, 7 ก.ค. (ซินหัว) - ลาบูบู้ (Labubu) สินค้าทรัพย์สินทางปัญญาชื่อดังของป๊อปมาร์ต (Pop Mart) ยังคงครองใจแฟนๆ ในยุโรป สหรัฐฯ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความนิยมล่าสุดบนแพลตฟอร์มระดับโลกเป็นสิ่งที่เน้นย้ำว่าคุณค่าทางความรู้สึกได้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ลาบูบู้กลายเป็นกระแสไวรัลในโซเชียลมีเดีย จากการเปิดตัวของลาบูบู้ 3.0 ได้จุดกระแสให้เกิดการต่อคิวซื้อทั่วโลก

เมื่อนับถึงสิ้นปี 2024 ป๊อปมาร์ตได้เปิดร้านออฟไลน์ 120 แห่ง และเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ 172 เครื่องในกว่า 30 ประเทศ

ปัจจุบัน สิงคโปร์มีร้านป๊อปมาร์ตถึง 9 สาขา ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนร้านของเลโก (Lego) โดยชาวสิงคโปร์มักพกพาลาบูบู้ติดเป้สะพายหลังเป็นเครื่องแสดงออกทางแฟชั่น

อาเรียล เฟย์ พนักงานออฟฟิศชาวสิงคโปร์วัย 30 ปี กล่าวว่าคุณค่าทางความรู้สึกเป็นแรงผลักดันความหลงใหลในการสะสม โดยเธอกับสามีสะสมตุ๊กตาป๊อปมาร์ตมากกว่า 160 ชิ้นในเวลาเพียง 4 เดือน จนเต็มตู้โชว์ 4 ตู้ โดยพวกเขาหลงใหลในหน้าตาของลาบูบู้ที่ “น่ารักและให้ความรู้สึกสบายใจ”

การใช้จ่ายตามความรู้สึกยังช่วยผลักดันการยกระดับภาคอุตสาหกรรม โดยรายงานข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคปี 2025 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของของเล่นสะสมจะเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 14 ภายในระยะเวลา 3 ปี ด้านเจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) คาดว่ายอดขายของซีรีส์เดอะ มอนสเตอร์ (The Monsters) ที่มีลาบูบู้เป็นตัวละครหลัก จะพุ่งแตะ 1.4 หมื่นล้านหยวน (ราว 6.31 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2027

รูปลักษณ์อันแปลกตาของลาบูบู้ท้าทายขนบของของเล่นสะสมแบบดั้งเดิม โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าลาบูบู้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของรสนิยมเฉพาะตัวในหมู่วัยรุ่นที่ต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง

หลังจากประสบความสำเร็จในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป๊อปมาร์ตจึงขยายเข้าสู่ยุโรปและสหรัฐฯ โดยลอนดอนมีร้านป๊อปมาร์ตนอกศูนย์การค้า 5 แห่ง อันรวมถึงพื้นที่จำหน่ายในร้านแฮมลีส์ (Hamleys) และแฮร์รอด (Harrods)

ในช่วงเวลาเร่งด่วน ร้านป๊อปมาร์ตสาขาไชน่าทาวน์และถนนอ็อกซ์ฟอร์ดของลอนดอนมีผู้คนต่อคิวนานกว่า 20 นาที ความต้องการสูงต่อลาบูบู้ 3.0 ทำให้ต้องระงับการจำหน่ายชั่วคราวทั่วสหราชอาณาจักร โดยร้านสาขาไชน่าทาวน์ในลอนดอนมีลูกค้าวันละ 2,000-3,000 คน โดยร้อยละ 90 เป็นชาวอังกฤษหรือชาวยุโรป

ผู้จัดการร้านกล่าวว่าสินค้ายอดนิยมอย่างครายเบบี (Crybaby) มักขายหมดอย่างรวดเร็ว พร้อมระบุว่าป๊อปมาร์ตมีแผนจะเปิดสาขานอกศูนย์การค้าเพิ่มในลอนดอน แต่รายละเอียดยังไม่ชัดเจน

นักวิเคราะห์รายหนึ่งให้เครดิตความสำเร็จระดับโลกของป๊อปมาร์ต ว่าเกิดจากนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ เช่น การออกแบบลาบูบู้แบบเคลือบเงาผสมขนนุ่มฟู และความชำนาญในการใช้กลไกกล่องสุ่มที่ซับซ้อน

นักวิเคราะห์ยังเสริมว่าตลาดของเล่นทันสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และสหรัฐฯ ยังมีช่องว่างอยู่บ้าง ทำให้นวัตกรรมจากจีนและการบริโภคที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์สามารถผลักดันการขยายตลาดในต่างประเทศได้ต่อไป

(เนื้อหาโดย Liu Xuyang และ Li Tangning เรียบเรียงโดย Yang Yajun และ Yang Yifan, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/523060_20250707 , https://en.imsilkroad.com/p/346367.html)