In Thailand

ผู้ตรวจประมงบุกกาฬสินธุ์เดินหน้าส่งเสริม ชาวประมงสู่ความมั่นคงทางอาหาร    



กาฬสินธุ์-ผู้ตรวจราชการกรมประมง ลงพื้นที่มอบใบอนุญาตเลี้ยงปลากระชังในที่สาธารณสมบัติแผ่นดิน พื้นที่อ.สหัสขันธ์ - อ.หนองกุงศรี   พร้อมลงสำรวจน่านน้ำเขื่อนลำปาวคุมเข้มฤดูปลาวางไข่ ชมเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำคำเขื่อนแก้ว  วัดเกาะแก้ว อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์

ที่บ้านโนนอุดม ต.ภูสิงห์  อ.สหัสขันธ์   ทั้งนี้ นายสุชาติ  แสงจันทร์  ผู้ตรวจราชการกรมประมง  นายบุญธง  เภาเจริญ  ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์  นางสายฝน  เสียงหวาน  หน.กลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง  นายวีระ  จิตรสุวรรณ  ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดกาฬสินธุ์  และนางสาวกฤษณา  อิงเอนุ  ประมงอำเภอสหัสขันธ์  รับผิดชอบพื้นที่อ.สหัสขันธ์  อ.หนองกุงศรี และ.คำม่วง   ลงพื้นที่รับฟังและแลกเปลี่ยนความรู้ในการเลี้ยงปลานิลในกระชังพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว พร้อมมอบใบอนุญาตเลี้ยงปลาในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้เกษตรผู้เลี้ยงนิลในกระชัง บ้านโนนอุดม  ต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ และบ้านนาอวน ต.หนองสรวง  อ.หนองกุงศรี มีเกษตรกรร่วมต้อนรับจำนวนมาก

จากนั้นลงสำรวจผู้ทำการประมงในเขื่อนลำปาวช่วงประกาศฤดูปลาวางไข่และพื้นที่เขตที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำคำเขื่อนแก้ว  วัดเกาะแก้ว  ต.สำราญใต้  อ.สามชัย  พบปลาสร้อยขาวรวมฝูงจำนวนมากในช่วงนี้ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำมากขึ้นในพื้นที่ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ รอบเขื่อนลำปาวที่มีอยู่กว่า 8 แห่ง  พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ประมง เข้มงวดในการตรวจพื้นที่รอบเขื่อนลำปาว และเฝ้าระวังการลักลอบเลี้ยงปลากระชัง หรือการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยไม่ได้รับอนุญาต  

นายสุชาติ  แสงจันทร์  ผู้ตรวจราชการกรมประมง  กล่าวว่า  สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้เน้นการพบเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง และกลุ่มประมงพื้นบ้าน  เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันในการจัดการพื้นที่ทำการเกษตร สำหรับการเลี้ยงปลากระชังในเขื่อนลำปาว  ซึ่งเป็นที่สารธารณสมบัติของแผ่นดิน และมีขอบเขตกำหนดตามเกณฑ์ที่ทางกรมประมงได้ทำข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 268,304 ตรม.  มีจำนวนกระชังทั้งหมด 11,904 กระชัง เกษตรกรทั้งหมด 450 ราย ซึ่งจากนี้จะไม่มีการเพิ่มกระชังเลี้ยงปลา และไม่สามารถออกใบอนุญาตให้อีก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชาวประมง ทั้งประมงพื้นบ้าน และเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ล้วนแต่เป็นผู้สร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถทำเป็นอาชีพมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

“ความมั่นคงทางอาหารจากสัตว์น้ำมีความสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้สูงอายุ  ที่ต้องบริโภคอาหารประภทสัตว์น้ำ  ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบว่าปริมาณสัตว์น้ำจากการเลี้ยงมีปริมาณเยอะกว่า สัตว์น้ำธรรมชาติ จากปัจจัยด้านสภาพอากาศ และน้ำ  ซึ่งทำให้ทางกรมประมง ได้หาทางออกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ต้องออกมาส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทำการประมง สำหรับเกษตรกรที่สนใจ โดยเฉพาะโซนอีสานจะมีพื้นที่และโอกาสเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจได้ดี เป็นการสร้างเศรษฐกิจของชุมชนด้วย”  นายสุชาติ กล่าว