EDU Research & Innovation

มจธ.มุ่งเป้าพัฒนาวิศวกรรมชั้นสูงพร้อม ปั้นนวัตกรรมพลิกโฉม'เมกะซิตี้ไทย'



กรุงเทพฯ-มหานคร (Megacity) คือเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไป การเติบโตของเมืองในระดับนี้มักนำมาซึ่งปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และความท้าทายในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ การพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นแนวหน้าจะช่วยตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ให้เกิดความยั่งยืนได้

ศาสตราจารย์ ดร.ชัย จาตุรพิทักษ์กุล อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และหัวหน้าโครงการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นแนวหน้าในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อรองรับการพัฒนาเมกะซิตี้แห่งอนาคต กล่าวว่า “ประเทศไทยมีกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหานครขนาดใหญ่ หรือ เมกะซิตี้  นอกจากนี้เมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างเชียงใหม่ เมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออกมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมกะซิตี้ในอนาคต ซึ่งในการบริหารการก่อสร้างหรือพัฒนาเมกะซิตี้เหล่านี้จำเป็นต้องครอบคลุมการออกแบบและใช้วัสดุอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดคาร์บอน การพัฒนาระบบ Smart Mobility ที่มีทั้งการจราจรอัจฉริยะและการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นเมืองขนาดใหญ่”

โครงการฯ นี้ได้รับทุนสนับสนุนกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568        จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวน 15 ล้านบาท และงบประมาณสนับสนุนจาก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. จำนวน 3 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 18 ล้านบาท มีระยะเวลาการดำเนินงานวิจัย 3 ปี โดยมีเป้าหมายหลักที่จะมุ่งพัฒนากำลังคนทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีวัสดุและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการก่อสร้างและบริหารจัดการเมกะซิตี้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ 4 ด้าน ได้แก่ 1. เทคโนโลยีวัสดุใหม่และการก่อสร้างแห่งอนาคต โดยมุ่งพัฒนา Green Technology สำหรับงานก่อสร้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ มีความยั่งยืน และทนทาน รวมถึงการวิจัยวัสดุสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) 2. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการก่อสร้างและบริหารจัดการ เน้นการประยุกต์ใช้ AI ในการบริหารจัดการน้ำ การบำบัดน้ำเสีย และปัญหาขยะ 3. เทคโนโลยีเพื่อรองรับภัยพิบัติต่างๆ ทั้งภัยจากธรรมชาติ (เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว) และภัยจากความมั่นคง (เช่น การก่อการร้าย) เน้นการประยุกต์ใช้กลศาสตร์การคำนวณขั้นสูงและเทคโนโลยีการตรวจสมัยใหม่ รวมถึงการเก็บข้อมูลอัจฉริยะ (Smart Data) สำหรับการบริหารจัดการเมืองใหญ่และพัฒนาระบบเตือนภัยสำหรับโบราณสถาน และ 4. เทคโนโลยีการสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) เน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบราง การขนส่งทางเรือ และการจัดการขนส่งในเมืองใหญ่ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงมาตรฐานในด้านความปลอดภัยสำหรับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล ผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา และรองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. และ รองศาสตราจารย์ ดร. วีรชาติ ตั้งจิรภัทร  หัวหน้าห้องปฏิบัติการคอนกรีต ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้ร่วมกันกล่าวถึงบทบาทของวิศวกรรมโยธาในการพัฒนาเมกะซิตี้ว่ารากศัพท์ของโยธามาจาก Civil Engineering หมายถึง วิศวกรรมพลเรือนที่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับคนและเมือง ดังนั้นวิศวกรรมโยธามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมกะซิตี้ โครงการนี้จึงมุ่งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ด้านวิศวกรรมชั้นสูงและวิจัยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับปัญหาเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะการปลูกฝังกระบวนการคิดตั้งแต่โจทย์วิจัยไปจนถึงการบริหารจัดการ เพื่อให้มีคนทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ แม้มีเงินทุนหรือโจทย์ก็ไร้ประโยชน์หากไม่มีบุคลากร การสร้างคนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้แข่งขันได้ในระดับโลก และงานวิจัยกลุ่มนี้น่าจะตอบสนองนโยบายระยะยาวของประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.ชัย กล่าวเสริมว่า ในประเทศไทยมีบุคลากรที่จบวิศวกรรมโยธาอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่จะทำงานในภาคสนามหรืองานก่อสร้างเป็นหลัก แต่คนที่ทำงานด้านวิจัยชั้นสูง (Advanced research) เพื่อสร้างมาตรฐานและกำหนดทิศทาง รวมถึงแก้ปัญหาที่ซับซ้อนทางวิชาการและวิชาชีพยังมีไม่มาก ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องทำงานและพัฒนาวิศวกรรมชั้นสูงเพิ่มมากขึ้น เพราะงานวิจัยชั้นสูงเป็นงานวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และครอบคลุมมากกว่างานวิจัยทั่วไปที่ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจะทำได้

“ผลผลิตที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาเมกะซิตี้แห่งอนาคตของประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งด้านกำลังคนทักษะสูง ด้านนวัตกรรมวัสดุสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการเมือง การประเมินความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายเพื่อการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน”