In Thailand
ก่อนวันหวยออกครูหนุ่มเจอแม่เหี้ยออกไข่ ต่อหน้าไม่อาย2ฟองคอหวยตีเลขเด็ด!

ปราจีนบุรี-ก่อนวันหวยออกครูหนุ่มเจอแม่เหี้ยออกไข่ต่อหน้าไม่อาย 2 ฟอง คอหวยตีเลขเด็ด!พบกรมอุทยานฯกำลังส่งเสริมการเพาะพันธุ์เหี้ยเชิงเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมายและยั่งยืน และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ที่สนใจ
เมื่อเวลา 20.05 น.วันนี้ 14 ก.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปราจีนบุรีพบในเพจของผู้ใช้ชื่อ กุ้งกาม ( นายชัชชัย หรือ ครูกุ้ง งามประยูร อายุ 43 ปี ครูผู้ช่วยสอนสาระความรู้วิทยาศาสตร์โรงเรียนแห่งหนึ่ง เลขที่ 79/1 หมู่บ้านพัฒนานิคม หมู่ 6 ต.บางปลาร้า อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี) โพสต์คลิปภาพ พบตัวเหี้ยขณะออกไข่ต่อหน้าต่อตา รวมจำนวน 2 ฟอง โดยมันไม่หวาดกลัวแต่อย่างใด และเฝ้าไข่ไว้คาดว่าคงหวง
สถานที่พบอยู่หน้าบ้านเลขที่ 46 หมู่6 ต.บางปลาร้าร้า อ.บ้านสร้าง ซึ่งเป็นบ้านตาของนายชัชชัย หรือ ครูกุ้งเองหลังตาเสียชีวิตลงบ้านนี้ไม่มีใครอยู่อาศัยครอบครัวพากันไปอยู่บ้านข้างบ่อเลี้ยงปลา – กุ้ง กันหมด ขณะขี่รถ จยย.มาดูความเรียบร้อยจึงพบแม่เหี้ยตัวเมียขนาดใหญ่ราว 25 กก.กำลังออกไข่ต่อหน้าต่อตา โดยปกติแล้วเหี้ยจะออกไข่ตามพงหญ้า หรือขุดโพรงไข่ไม่ให้ใครเห็น ออกไข่ครั้งละราว 40 -50 ฟอง
นายชัชชัย หรือ ครูกุ้ง กล่าวว่า ในย่านนี้ทั้งแถบพบเหี้ยชุดชุมมีจำนวนมาก เคยพบเหี้ยขนาดใหญ่มากกว่านี้ น้ำหนักกว่า 30 กก.โดยชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งขายมีแพปลาแพกุ้งมากที่สุดในปราจีนบุรีเรียงรายตลอดถนนสายพนมสารคาม – บ้านสร้าง (3076) บ่อปลา บ่อกุ้งจึงเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของพวกมันประกอบกับเหี้ยป็น"สัตว์ป่าคุ้มครอง" การจับเหี้ยจากธรรมชาติ หรือทำอันตรายเป็นสิ่งที่ "ผิดกฎหมาย" และมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ประชากรจึงขยายแพร่พันธุ์รวดเร็วมาก เห็นกันได้ทั่วไป แต่มันไม่ไข่ให้คนเห็นง่าย ๆอย่างนี้ วันต่อมาไปดูอีกครั้งตรงเดิม ทั้งไข่และแม่เหี้ยหายไปหมดแล้ว
หลังตนเองโพสต์ลงโซเชี่ยลแล้วมีคนเข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก โดยช่วงใกล้หวยออกได้ตีเลขเด็ดหลากหลาย อาทิ 600 205 25 125 นายชัชชัย หรือ ครูกุ้ง กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากกรณีที่ "เหี้ย" (Varanus salvator) ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะพันธุ์ได้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น
ขอเรียนชี้แจงและทำความเข้าใจแก่ประชาชนทุกท่านว่า "การเปลี่ยนแปลงสถานะดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าประชาชนทั่วไปจะสามารถจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยง หรือเพาะพันธุ์เหี้ยได้ทันทีโดยไม่มีข้อกำหนด และไม่ไช่เหี้ยที่อยู่ตามธรรมชาติ แต่เป็นเหี้ยที่อยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตนำไปเพาะขยายพันธุ์เท่านั้น"
จากนโยบายดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเหี้ยในการเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศ จึงได้มีการเร่งดำเนินการในหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือการที่คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบ การกำหนดราคาสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ (เหี้ย) ซึ่งจะนำไปสู่การออกระเบียบว่าด้วยการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าบริการ หรือค่าตอบแทน และราคาสัตว์ป่า เพื่อเพิ่มรายการเหี้ยไว้ในบัญชีดังกล่าว และจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ใครบ้างที่สามารถเพาะพันธุ์เหี้ยได้? เน้นย้ำว่า การเพาะพันธุ์เหี้ยเพื่อการค้าหรือเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เท่านั้น โดยผู้ที่สามารถดำเนินการได้คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กรมฯ กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
เงื่อนไขสำหรับผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตเพาะพันธุ์มีดังนี้ ผู้ขออนุญาตเพาะพันธุ์ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครอง มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะทำการเพาะเลี้ยงหรือได้รับการยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น และต้องไม่มีประวัติเคยต้องโทษคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ในส่วนของพ่อแม่พันธุ์ ไม่สามารถจับได้เองจากธรรมชาติ เนื่องจากเหี้ยยังมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จำเป็นต้องซื้อจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเท่านั้น และหลังจากมีผู้ได้รับอนุญาตเพาะพันธุ์และมีสัตว์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์แล้ว ผู้ขออนุญาตจึงจะสามารถซื้อจากสถานที่เพาะพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตนั้นได้
นอกจากนี้ เหี้ยที่ได้จากการเพาะพันธุ์ทุกตัวต้องมีการทำเครื่องหมายโดยการฝังไมโครชิพ เพื่อป้องกันการลักลอบนำมาจากธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยงเองได้
สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องทำความเข้าใจคือ เหี้ยยังคงเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครอง" การจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยง หรือครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตยังคงเป็นสิ่งที่ "ผิดกฎหมาย" และมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการเพาะพันธุ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเพาะพันธุ์เหี้ยเชิงเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมายและยั่งยืน และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ที่สนใจและมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ดังนั้น หากท่านใดสนใจที่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์เหี้ย หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนการขออนุญาตได้ที่ ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในเวลาราชการ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และร่วมกันผลักดันให้เหี้ยเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
มานิตย์ สนับบุญ- ปราจีนบุรี