EDU Research & Innovation
ม.ทักษิณจัดใหญ่มหกรรมวิจัย-นวัตกรรม ขับเคลื่อนอนาคตไทยด้วยฐานภูมิปัญญา

สงขลา-มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคใต้ จัดงาน มหกรรมนวัตกรรมจากผลงานวิจัยภาคใต้และการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม : Southern Innovation Fair 2025 ระหว่างวันที่ 17–19 กรกฎาคม 2568 ณ หอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมจากงานวิจัยภาคใต้ พร้อมทั้งเผยแพร่ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และจัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ การจัดมหกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) มหกรรมนวัตกรรมจากผลงานวิจัยภาคใต้และการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม : Southern Innovation Fair 2025 2) โครงการเผยแพร่ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 3) การประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 36 และ 4) The 1st International Conference on Disaster Risk Management (ICDRM2025) การประชุมระดับนานาชาติด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยทักษิณในฐานะศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนานวัตกรรม และการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่สากล (Glocalization) ตลอดจนการเป็น “ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง” ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยทักษิณในการขับเคลื่อน การวิจัย นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การใช้ประโยชน์เชิงสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในและต่างประเทศโดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นจำนวนกว่า 3,000 คน การประกวดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่มีศักยภาพมากกว่า 500 ผลงาน การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ กว่า 200 ผลงาน การเผยแพร่ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ สู่การพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน พร้อมกันนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติที่มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ท้าทายในยุคปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
สำหรับกิจกรรมในวันที่ 17 กรกฎาคม 2568เริ่มจากพิธีเปิดสุดอลังการกับการแสดง “Glocalization: สงขลามหานคร จากรากสู่โลก” และการเดินแบบชุดไทย 8 ชุด เพื่อเตรียมเสนอ UNESCO งานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับ
กิจกรรมเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่สร้างชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัยทักษิณในการเข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยในงาน Thailand Research Expo 2025และเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ต่อด้วยการปาฐกถาพิเศษ “พลังนวัตกรรมไทย: พลิกโฉมสู่เวทีโลก” (Thai Innovation Power: Transforming Toward the Global Stage) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านการจัดการภัยพิบัติ Prof.Dr.Joanne Langan, Saint Louis University, United State of Americaและ Prof.Dr.Alice Yuen Loke, Hong Kong Polytechnic University
กิจกรรมภาคบ่ายมีการบรรยายสร้างแรงบันดาลใจ “การพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านสิ่งประดิษฐ์” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วยการบ่มเพาะทักษะนวัตกรรุ่นใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง กล่าวเสริมว่า การจัดกิจกรรมปีนี้มีไฮไลต์ภายในงานที่น่าสนใจ อาทิ การบ่มเพาะทักษะนวัตกรรุ่นใหม่ กิจกรรม Business Talk Show และ Show & Share จากผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม BCG และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยกิจกรรม Reskill/Upskill สำหรับทุกช่วงวัย และนิทรรศสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมผลงานจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคใต้และชุมชนนวัตกรรมเพื่อธุรกิจฐานราก นอกจากนี้ยังมีเวทีการประกวดระดับเยาวชนและอุดมศึกษา “Southern Innovation Awards 2025” เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และอาชีวศึกษา ร่วมแข่งขันและแสดงผลงานด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ ปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
การจัดงานในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความร่วมมือ และนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่มีประโยชน์ต่อประเทศและภูมิภาคของเราอย่างแท้จริง