In News
ผู้เลี้ยงปลาเขื่อนลำปาวยอดตกกว่า50% หลังกาฬสินธุ์ปรับขึ้นสีแดงโควิด
กาฬสินธุ์-ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งล่าสุดถูกยกระดับเป็นเขตพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุด หลังพบผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการค้าขายเป็นอย่างมาก ล่าสุดผู้ประกอบการขายกุ้งก้ามกรามและปลากระชังเขื่อนลำปาว ระบุรายได้ตกวูบ ยอดขายและรายได้หายไปจากภาวะปกติมากกว่า 50%
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ และการค้าขายกุ้งก้ามกราม และปลากระชัง ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ โดยการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามใช้น้ำจากคลองชลประทานเขื่อนลำปาว และปลากระชังใช้พื้นที่เลี้ยงตามบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำลำปาว พบว่ากำลังประสบกับปัญหายอดขายตกต่ำ ปริมาณการค้าขายและรายได้ต่ำกว่าภาวะปกติมากกว่า 50 % เลยทีเดียว
นางราจี ไร่ไสว ซึ่งเป็นทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและจำหน่ายกุ้งก้ามกราม รวมทั้งจำหน่ายปลานิลหรือปลากระชัง กล่าวว่า ในช่วงนี้ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง โดยล่าสุดทราบว่า พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์และใกล้เคียง ถูกยกระดับเป็นพื้นที่สีแดงควบคุมสงสุด เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ได้ส่งผลต่อการประกอบอาชีพค้าขายกุ้งก้ามกรามและปลานิลเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะตลาดรับซื้อส่วนมากจะเป็นตลาดสด และร้านอาหารทั่วไป หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อคิด-19 ดังกล่าว ทำให้ทางการมีมาตรการปิดตลาดหลายแห่ง จึงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าขายกุ้งก้ามกรามและปลานิล สำหรับตนเคยจำหน่ายกุ้งตามร้านอาหารวันละ 100 ก.ก. และรับซื้อปลานิลจากกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังมาขายต่อเที่ยวละ 100 ก.ก. แต่ปัจจุบันรับไว้เพียง 20 กก.เท่านั้น ทำให้ขาดรายได้จากเดิมเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ผู้ประกอบการเลี้ยงปลานิลและพ่อค้าคนกลาง กล่าวว่า ในช่วงภาวะปกติ ปลานิลกระชังเคยมีราคาสูงเกือบ ก.ก.ละ 60 บาท นำส่งลูกค้าตามตลาดสด และร้านอาหาร รวมทั้งงานเลี้ยงงานสมรสหรืองานสังสรรค์ต่างๆ ไม่น้อยกว่าวันละ 500 กก. – 1 ตัน หรือวันละ 2-3 เที่ยว แต่พอเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยอดขายเริ่มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ราคาขายก็ต้องปรับลดลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะตลาดรับซื้ออย่างตลาดสด และตลาดนัดชุมชนปิดตัวลง จึงส่งผลกระทบต่ออาชีพค้าขายเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนำส่งน้อยลง และราคาขายส่งก็ปรับลดลง เฉลี่ย ก.ก.ละ 50 บาทเท่านั้น