In Global

ชี้อุตสาหกรรม‘โลจิสติกส์ควบคุมอุณหภูมิ’ ของจีนกำลังรุกตลาดโลก



ปักกิ่ง, 22 ก.ค. (ซินหัว) - ณ ที่ประชุมโลจิสติกส์ควบคุมอุณหภูมิโลกครั้งที่ 17 สหพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อจีน (CFLP) รายงานว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ควบคุมอุณหภูมิของจีนกำลังเติบโตอย่างมั่นคง โดยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการค้าและห่วงโซ่อุตสาหกรรมโลก

ข้อมูลจากที่ประชุมระบุว่า ปี 2024 มูลค่าตลาดโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิทั่วโลกอยู่ที่ราว 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 11.7 ล้านล้านบาท) โดยจีนครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นในจีนช่วงครึ่งปีแรก มีปริมาณราว 192 ล้านตัน และมีมูลค่ารวมราว 4.7 ล้านล้านหยวน (ราว 21.12 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ 4

อุตสาหกรรมจีนกำลังสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยใช้รูปแบบ "โหนดสามระดับ ผนวกกับการเสริมพลังด้วยดิจิทัล" และมีบริษัทจดทะเบียนชั้นนำเป็นหัวหอกสำคัญของการพัฒนา 

นอกจากนี้ จีนยังพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ต่างๆ เช่น รถไฟขนส่งห่วงโซ่ความเย็นและระบบราง-เรือ ในโครงการระเบียงการค้าทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่

จีนมีระบบโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมควบคุมอุณหภูมิ 3 ระดับ ได้แก่ ฐานโลจิสติกส์ควบคุมอุณหภูมิหลักระดับชาติ 105 แห่ง ศูนย์ผลิต-กระจายสินค้า และระบบจัดส่งปลายทาง โดยมุ่งสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย และเชื่อมโยงทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านนวัตกรรม เทคโนโลยีสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

บทบาทของจีนในมาตรฐานสากลด้านโลจิสติกส์ควบคุมอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมาตรฐานสากลฉบับแรกที่ประกาศใช้นั้นนำโดยจีน ว่าด้วยบริการจัดส่งแบบไร้สัมผัสในเดือนพฤศจิกายน 2024 ซึ่งช่วยให้บริษัทจีนเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น

อุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมาก โดยอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนยังคงเป็นแรงผลักดันสำคัญ ขณะที่โมเดลดิจิทัลใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบิ๊กดาต้า (Big Data) เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ตลาดโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิของโลกอาจเติบโตแตะ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 193 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2028

ขณะนี้บริษัทจีนหลายแห่งกำลังเร่งการพัฒนา เช่น บริษัท เจดี โลจิสติกส์ (JD Logistics) ใช้เอไอและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อลดการสูญเสียสินค้ากว่าร้อยละ 30 หรือบริษัท อินโซน กรุ๊ป (Inzone Group) มีคลังห้องเย็นกว่า 6,600 ตารางเมตร ขณะที่บริษัท สโนว์แมน กรุ๊ป (Snowman Group) พัฒนาเทคโนโลยีทำความเย็นอุณหภูมิต่ำมากเพื่อปิดช่องว่างเทคโนโลยีในประเทศ

ในด้านการขยายสู่ต่างประเทศ บริษัท เอสเอฟ โคลด์ เชน (SF Cold Chain) ได้สร้างฐานจัดซื้อตรงสำหรับผักผลไม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่บริษัท ชิงเต่า ไฮรอน (Qingdao Hiron) ตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอุตสาหกรรมจีนกำลังเปลี่ยนจากการ "เพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน" สู่การ "ส่งออกมาตรฐานอันแข็งแกร่ง" โดยเน้นการเติบโตในกลุ่มสินค้ายาและอาหารสดข้ามพรมแดน

(เรียบเรียงโดย Gu Shanshan, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/525372_20250722 , https://en.imsilkroad.com/p/346660.html)

ภาพประกอบข่าว
(แฟ้มภาพซินหัว : รถบรรทุกขนส่งผลไม้และผักสด กำลังวิ่งอยู่บนถนนภูเขามุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านเป่ยกา หมายเลข 4 ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเซียนจาในเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ราว 150 กิโลเมตร วันที่ 5 ม.ค. 2024)