In Global

รำลึก620ปีสมุทรยาตราอันยิ่งใหญ่ของ ‘เจิ้งเหอ’แม่ทัพขันทีแห่งราชวงศ์หมิง



#เจิ้งเหอ คือนักสำรวจทางทะเลคนสำคัญในยุคราชวงศ์หมิงของจีน เป็นผู้นำกองเรืออันยิ่งใหญ่เดินทางไกลผ่านหลายทวีป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ คนไทยไม่น้อยรู้จักท่านในชื่อ “ซัมปอกง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกในภาษาจีนฮกเกี้ยน  “ซำปอ” แปลว่า ไตรรัตน์ และ “กง” ใช้เรียกผู้มีความรู้และคุณธรรม มักใช้ในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนที่นับถือท่านเจิ้งเหอในฐานะนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 620 ปี ก่อน วันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา เจิ้งเหอได้ออกเดินทางสู่มหาสมุทรตะวันตกเป็นครั้งแรก  ปีนี้จึงเป็นวาระครบรอบ 620 ปีของการเดินเรือของเจิ้งเหอ และนักศึกษาจากสามประเทศ ได้แก่ จีน ไทย และเวียดนาม ได้เดินทางมายังบ้านเกิดของเจิ้งเหอที่เขตจิ้นหนิง นครคุนหมิงในปัจจุบัน เพื่อสัมผัสกัลเรื่งราวของเจิ้งเหอแบบข้ามผ่านกาลเวลา

ปี 1405 เจิ้งเหอ ได้นำกองเรือขนาดใหญ่ออกจากท่าเรือไท่ชาง มณฑลเจียงซู พร้อมภารกิจแห่งสันติภาพสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่และประเทศที่ไม่รู้จัก เปิดฉากสมุทรยาตราอันยิ่งใหญ่ที่ต่อมาได้ดำเนินต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง จารึกตำนานที่สะเทือนโลกไว้บนผืนนที

ในระยะเวลา 28 ปี กองเรือของเจิ้งเหอได้เดินทางเยือนกว่า 30 ประเทศและภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันตก และแอฟริกาตะวันออก ส่งต่อความปรารถนาดี ช่วยผู้คนในท้องถิ่นสร้างเมือง ขับไล่โจรสลัด ตลอดจนสอนเทคนิคการต่อเรือ การทำเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์

การเดินเรือเจ็ดครั้งของเจิ้งเหอสู่มหาสมุทรตะวันตก ได้เปิดม่านยุคแห่งการเดินเรือของโลก และสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายพันปีที่ผ่านมา เส้นทางสายไหมได้สืบทอดจิตวิญญาณทางวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและความร่วมมือ การเปิดกว้าง ยอมรับ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากรุ่นสู่รุ่น 

ปัจจุบัน การรำลึกถึงเจิ้งเหอ เจิ้งเหอศึกษา และการสืบสานจิตวิญญาณของเจิ้งเหอ ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ  โดยเยาวชนสามคนจากสามประเทศได้มารวมตัวกันที่บ้านเกิดของเจิ้งเหอ เพื่อสัมผัสจิตวิญญาณของขันทีนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่

จิตวิญญาณของเจิ้งเหอ ได้แก่ "การเป็นผู้นำ การอุทิศตนเพื่อวิชาชีพ การเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และการเปิดกว้างและการไม่แบ่งแยก" ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นหลังจากหลายประเทศ ในการใช้ความสามารถและศักยภาพของตนเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ และสร้างสรรค์สังคมโลกผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน