Authority & Harm
คนปราจีนฯยื่นประท้วงไม่ร่วมพื้นที่อีอีซี ร้องม.ธรรมศาสตร์หวั่นเป็นถังขยะโลก

ปราจีนบุรี-เมื่อเวลา 20.20 น.วันนี้ 23 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปราจีนบุรี ได้รับแจ้งจากเครือข่ายชาวปราจีนเข้มแข็ง ดานพกลุ่มปราจีนเข้มแข็งกว่า 30 คน มายื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในนามของเครือข่ายปราจีนบุรีเข้มแข็งและเครือข่าย 304กิน ได้ยื่นหนังสือขอติดตามความคืบหน้าการพิจารณาคำขอคัดค้านการเสนอจังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่ขยาย EEC ต่อเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้เลยต่อไปยื่นหนังสือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอให้เปิดเผยข้อมูลเวทีชี้แจงโครงการศึกษาความเหมาะสมในการขยายพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดปราจีนบุรี
นายสุนทร คมคาย เครือข่ายปราจีนเข้มแข็ง กล่าวว่า ตามที่เครือข่าย 304 กินได้ มีการยื่นหนังสือคัดค้านการเสนอจังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่ขยาย EEC ต่อเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 แล้วนั้น เครือข่ายยังไม่ได้คำตอบและการอธิบายใดๆจากทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
อีกทั้งการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการขยายเพิ่มจังหวัดปราจีนบุรีเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็ยังคงดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันที่เป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมจำนวนมากก็ไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน
ดังนั้นในวันนี้ ทางเครือข่ายปราจีนเข้มแข็ง และ เครือข่าย 304 กินได้ จึงมาทวงถามคำตอบจากทางเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และยืนยันคัดค้านการขยายพื้นที่ EEC มารวมจังหวัดปราจีนบุรี และขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไปศึกษาทบทวนการดำเนินการใน3 จังหวัดในพื้นที่ EEC ในปัจจุบันซึ่งมีปัญหาจำนวนมากซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงขยายผลกระทบมาจังหวัดใกล้เคียงด้วย โดยควรมีมาตรการในการจัดการปัญหาในพื้นที่ EEC เดิม และหยุดการดำเนินการขยายพื้นที่เพิ่ม
จึงใคร่ขอให้ได้แจ้งผลการพิจารณาคำคัดค้านของเครือข่ายฯ อย่างเป็นทางการโดยเร็ว และยุติกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขยายพื้นที่ EEC มายังจังหวัดปราจีนบุรี จนกว่าจะมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง รอบด้าน และเป็นธรรม พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง
จากนั้นได้เลยต่อไปยื่นหนังสือกับผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอให้เปิดเผยข้อมูลเวทีชี้แจงโครงการศึกษาความเหมาะสมในการขยายพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดปราจีนบุรี
นายสุเมธ เหรียญพงษ์นาม เครือข่ายปราจีนเข้มแข็งชาวตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ กล่าวว่า ตามที่สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมในการขยายพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมจังหวัดปราจีนบุรี
พวกเราประชาชนในพื้นที่ขอแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อกระบวนการดำเนินการศึกษาดังกล่าวซึ่งขาดหลักการมีส่วนร่วม โปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งมีข้อสังเกตว่ากำลังถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการผลักดันนโยบายที่มีผลกระทบเชิงลบต่อชุมชนโดยขาดการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม
สิ่งที่ค้นพบจากภาคประชาชน กระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่แท้จริงของการจัดเวทีมีลักษณะเป็นพิธีกรรมทางเทคนิค การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและเวทีFocus Group ที่ผ่านมานั้นมีเพียงข้าราชการ หน่วยงานรัฐ กลุ่มคนและกลุ่มทุนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับเชิญเข้าร่วมขณะที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง และประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมกลับไม่ได้รับเชิญหรือไม่มีพื้นที่แสดงความเห็นเครือข่ายปราจีนเข้มแข็ง และเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ไม่ต้องการให้การจัดเวทีแบบแบ่งแยกหรือเลือกเชิญเฉพาะกลุ่ม แต่ขอให้มีการจัดเวทีระดับอำเภอที่เปิดกว้างครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงไม่ใช่เวทีที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 10–20 คน แล้วกล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทนเสียงของประชาชน ซึ่งไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
การประเมินที่เอนเอียงไปทางเศรษฐกิจและขาดความรอบด้าน มีความกังวลในการใช้เครื่องมือ SROI (Social Return on Investment) ของผู้ทำการศึกษา ในการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม โดยอาจเน้นตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นหลักเช่น GDP หรือรายได้หรือการจ้างงาน โดยละเลยประเมินผลกระทบเชิงลบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน หรือสุขภาพของชุมชน
ขาดความโปร่งใสในกระบวนการศึกษา ประชาชนไม่ได้รับการชี้แจงและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการศึกษาความเหมาะสมฯ ต่อสาธารณะอย่างชัดเจน ทั้งเหตุผลความเป็นมา ขอบเขตวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดวิธีการคำนวณ ขั้นตอนกระบวนการและสมมติฐานต่างๆ ที่ใช้ในการประเมินผลการศึกษา อีกทั้งยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลหรือชี้แจงสถานะหรือผลการดำเนินงานของโครงการศึกษาความเหมาะสมฯ ที่สามารถตรวจสอบได้โดยสาธารณะ
ปัญหาในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจังหวัดปราจีนบุรีกำลังเผชิญผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาคอุตสาหกรรม ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีข่าวสารและข้อมูลปรากฏอย่างต่อเนื่องซึ่งมีการร้องเรียนเรื่องมลพิษกลิ่นเหม็น น้ำเสีย การลักลอบฝังกลบขยะอุตสาหกรรม โรงหลอมเถื่อน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสะสมเดิมจากภาคอุตสาหกรรม โรงงานเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม การผลักดันให้ปราจีนบุรีเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไขอาจยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์และทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนเลวร้ายลงอีก
บทบาทของมหาวิทยาลัยในการเป็นที่พึ่งของประชาชนพวกเรากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าเครื่องมือทางวิชาการและโครงการศึกษาวิจัยลักษณะนี้ ซึ่งมีกรอบการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงที่ถูกกำหนดมาโดยหน่วยงานที่ว่าจ้าง จะถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายของรัฐ โดยไม่มีการศึกษาและนำเสนอข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม รอบด้านและเป็นอิสระตรงไปตรงมา ซึ่งจะกระทบต่อเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันวิชาการที่เป็นที่พึ่งของประชาชน
ข้อเสนอจากภาคประชาชน ขอให้สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลวัตถุประสงค์และรายละเอียดทั้งหมดของโครงการศึกษา และข้อมูลสถานะการดำเนินการศึกษาทั้งหมดต่อสาธารณะ โดยรวมถึงรายงานและข้อมูลจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ผ่านมา รวมถึงรายชื่อผู้เข้าร่วม วิธีการคัดเลือก และผลการใช้เครื่องมือ SROI อย่างละเอียดต่อสาธารณะ
ขอให้สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนหยัดรักษาเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันวิชาการที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ดำเนินกระบวนการศึกษาและนำเสนอข้อมูลผลกระทบของนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสถานการณ์ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีอย่างครอบคลุมรอบด้าน และโปร่งใสตรงไปตรงมา
พวกเราขอยืนยันว่าการพัฒนาที่แท้จริงต้องตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงโดยปราศจากการใช้วิชาการเป็นเครื่องมือรับใช้ผลประโยชน์ของทุนหรือนโยบายที่ขาดความชอบธรรม และหวังว่าจะได้รับคำตอบจากท่าน
มานิตย์ สนับบุญ/ปราจีนบุรี