Authority & Harm
รับเหมา7ชั่วโคตรทิ้งงานทำชาวบ้านผวา ดินสไลด์โยธาฯยืนยันทำดีที่สุด

กาฬสินธุ์- ชาวบ้านอาศัยติดตลิ่งริมน้ำจุดก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ผวาหนักน้ำลำพานขึ้นหวั่นกัดเซาะทำตลิ่งพังกลืนบ้านเรือนประชาชน เรียกร้อง กรมโยธาฯ จัดงบก่อสร้าง-เรียกเงินคืนจากรับเหมา ขณะที่ โยธาฯคุมเข้มก่อสร้างท่อระบายน้ำเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมแจงดราม่า ปลูกหญ้า-ปูถนน เป็นการคืนผิวจราจรให้ประชาชนเพื่อความปลอดภัยย้ำทำดีที่สุด ด้านผู้ตรวจและคณะธรรมาภิบาลเดินหน้าสอดส่องเผยปัญหา 7 ชั่วโคตรทำดีที่สุดแล้วต่อไปขึ้นอยู่กับ กรมโยธาฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับผู้รับจ้างทิ้งงาน
จากกรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ จ. กาฬสินธุ์ จำนวน 8 โครงการ ครอบคลุมถึง 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ 5 โครงการ อ.ฆ้องชัย 2 โครงการ และ อ.กมลาไสย 1 โครงการ งบประมาณกว่า 545 ล้านบาท จากข้อมูลของกรมโยธาธิการฯ เจ้าของโครงการได้ว่าจ้าง 2 หจก. เริ่มทำสัญญาก่อสร้างในแต่ละโครงการตั้งแต่ปี 2562-2565 แต่ถึงปัจจุบัน ทุกโครงการก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว เนื่องจากผู้รับจ้างทิ้งงาน จนชาวบ้านขนานนามให้ว่าโครงการ 7 ชั่วโคตร ขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ยังเฝ้าติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนัก ถึงแม้ต้นปี 2568 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ประกาศเวียนห้างให้ทั้ง 2 หจก. นี้ตกเป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน มีผลหมดสิทธิ์เข้ารับงานกับภาครัฐในทุกกระทรวง ทบวง กรม การเอาผิดยังอยู่ในมือ ปปช.- สตง. ที่จะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ในการเรียกเงินคืนตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
รายงานล่าสุด วันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ทีมข่าวแจ้งว่า มีกระแสดราม่าที่เกิดจากความอึดอัดต่อความล่าช้าในการก่อสร้าง โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ โครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำ ในส่วนของผู้รับเหมารายใหม่ที่ได้ดำเนินการเกือบจะแล้วเสร็จภายในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ด้วยงบประมาณกว่า 68 ล้านบาท หลายจุดมีการคืนผิวการจราจร บางแห่งมีการปลูกหญ้า บางแห่งมีการปูผิวจราจรแอสฟัสติกส์คอนกรีต แต่ประชาชนพบเห็นความเปลี่ยนแปลงสงสัย จึงมีกระแสดราม่าออกมาต่อว่าไปต่างๆนานา สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ ได้ขอชี้แจงว่าการก่อสร้างที่มีการเปิดผิวถนนจราจร จะต้องการมีซ่อมแซมเพื่อคืนสภาพพื้นผิวถนนเพื่อความปลอดภัยและสวยงามให้กับประชาชน
ที่บริเวณถนนผังเมือง 2 ชุมชนหนองเรือ-หัวคู เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นจุดก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมือง (ส่วนที่เหลือและซ่อมแซมบูรณะส่วนที่ชำรุดบกพร่อง) นายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ สำนักงานโยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างและปรับปรุงผิวจราจร ที่เป็นกระแสดราม่า เปิดเผยว่า ทุกปัญหาเกิดจากการทิ้งงานก่อสร้าง และที่ผ่านมาได้มีการขุดเปิดถนนทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน ทำให้ผิวจราจรคอนกรีตเดิมที่อยู่ข้างเคียงมีการทรุดตัว เมื่อทำการก่อสร้างและคืนผิวจราจรคอนกรีตแล้วเสร็จ ระดับถนนก็ยังไม่สม่ำเสมอ ไม่เรียบร้อย บางจุดมีรอยร้าว เป็นหลุมเป็นบ่อ มีการร้องเรียนจากประชาชนบ่อยครั้ง ด้วยความเป็นห่วงในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการ จ.กาฬสินธุ์ เร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อให้ผิวจราจรเรียบร้อยและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน ซึ่งหากรื้อผิวคอนกรีตเดิมทำใหม่ จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างนาน จึงได้ดำเนินการปูผิวจราจรแอสฟัสติกส์คอนกรีต ซึ่งใช้ระยะเวลาก่อสร้างน้อยกว่ามาก และลดผลกระทบต่อประชาชนในการก่อสร้าง
นายวิจิตร กล่าวว่า ทั้งนี้ กรณีพี่น้องประชาชนสงสัย ว่าทำไมถึงมีการปูแอสฟัสติกส์คอนกรีตทับผิวจราจรเดิม ก็ขอทำความเข้าใจว่า เป็นส่วนหนึ่งของงานเก็บรายละเอียดเนื้องานโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักฯ นี้ เพื่อคืนสภาพถนน ตามมติของคณะกรรมการตรวจรับงานฯ ซึ่งจะดำเนินการในทุกๆจุดที่มีการก่อสร้าง เพื่อคืนสภาพผิวถนนให้มีความเรียบร้อย สวยงาม ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สัญจรสะดวกและปลอดภัย ในส่วน 7 โครงการที่เหลือ ซึ่งถูกทิ้งงานนั้น อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และคาดว่าน่าจะได้ผู้รับจ้างประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 2568 นี้ จากนั้นก็จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป
ขณะที่ชาวบ้านตำบลลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ในจุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เริ่มหวาดผวาเนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นและเกรงว่ามวลน้ำจะกัดเซาะตลิ่งบ้านเรือนประชาชนรวมถึง ตลาดที่อยู่ติดกับลำน้ำพาน นายดวง ฉายอำไพ อายุ 62 ปี ชาวบ้านวังยูง ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณหลังบ้านติดกับตลิ่งลำน้ำพานหนึ่ง ในจุดก่อสร้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง ได้พยายามสะท้อนปัญหาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ขณะนี้เข้าฤดูฝนระดับน้ำในลำพานเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน เป็นภาวะเสี่ยงดินริมตลิ่งหลังบ้านจะเกิดการสไลด์ตัวเป็นอย่างมาก ทำให้ตนรู้สึกวิตกกังวล ต้องการให้กรมโยธาฯ รีบจัดหาผู้รับจ้างมาทำงานอย่างเร่งด่วน หรือว่าหากไม่มีงบประมาณ ก็ขอให้เร่งรัดเรียกคืน กับผู้รับจ้างรายเดิมที่เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท ก่อนทิ้งงานไป ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่ท่านรับผิดชอบกรมโยธาฯ ได้เร่งดำเนินการโดยเร็ว ก่อนที่อาคารบ้านเรือนของตนและเพื่อนบ้าน รวมทั้งอาคารสำนักงานเทศบาลตำบลลำพาน และอาคารตลาดสดที่อยู่ติดกับตลิ่งจะเกิดการทรุดพังลงไปในลำน้ำพานในฤดูน้ำหลากนี้
นอกจากนี้ มีรายงานว่า วานนี้ (23 ก.ค.68 เวลา 15.00 น.) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 12 ในฐานะประธานกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ลงพื้นติดตามสอดส่องโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำปาว 2 ฝั่ง จากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ บริเวณต่อเนื่องจากซอยน้ำทิพย์ไปทางทิศเหนือ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยมี พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กธจ.กาฬสินธุ์, นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ กธจ.กาฬสินธุ์, นายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ ร่วมลงพื้นที่ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามสอดส่อง 8 โครงการผู้รับจ้างทิ้งงาน ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ร่วมกับคณะธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ติดตามมาอย่างต่อเนื่องนั้น ยืนยันว่า ทางคณะผู้ตรวจฯ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่และถึงที่สุดแล้ว ขึ้นอยู่กับทางกรมโยธาธิการและผังเมืองและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการต่อไปอย่างไร