In News
ล็อคห้ามแรงงานนอกเข้ากระทบ4นิคม จ่อยื่นทบทวน-ผู้ว่ายืนตามเดิม
ฉะเชิงเทรา-ล็อคพื้นที่แปดริ้ว ห้ามแรงงาน เข้า-ออก กระทบโรงงานทั่วพื้นที่ในนิคม 4 แห่ง จ่อรวมตัวยื่นขอทบทวนผ่อนปรน ด้านพ่อเมืองชิงเรียกประชุมร่วมบอร์ดโรคติดต่อทั้งจังหวัด ก่อนตัดสินยืนตามมาตรการเดิม พร้อมแนะให้ทุกแห่งทำตามกฎเหล็ก 4 แผนสำคัญ ทั้งด้านสุขภาพเศรษฐกิจต้องเดินควบคู่กัน ส่วนด้านกลุ่มผู้ใช้แรงงานร้องระงมผ่านสื่อ หลังสถานประกอบการหลายแห่งยังเมินมาตรการเข้มงวด ทั้งยังขู่คนงานใครร้องให้ออก
วันที่ 23 ก.ค.64 เวลา 16.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานข้อสรุปจากมติในที่ประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีนายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นประธานการประชุมในวันนี้ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนผู้ประกอบการจากนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ และ นิคมอุตสาหกรรม ที.เอฟ.ดี. อ.บางปะกง นิคมอุตสาหกรรมเกตุเวย์ซิตี้ อ.แปลงยาว และ สวนอุตสาหกรรม 304 ปาร์ค 2 อ.พนมสารคาม รวมถึงสภาอุตสาหกรรมจังหวัด
ก่อนที่จะมีมติในที่ประชุมอย่างเด็ดขาดออกมาดังนี้ ให้โรงงานทุกแห่งในพื้นที่ต้องมีแผน 4 แผน คือ แผนของสถานประกอบการ ต้องมีการบริหารจัดการแบบนิวนอร์มอล แผนคน คือ การปฏิบัติตัวของพนักงาน แผนการเดินทาง คือ การขนย้ายแรงงานและการเดินทางมาทำงาน แผนเผชิญเหตุหากพบผู้ติดเชื้อ ต้องกักตัวและทำการรักษา และจะต้องมีการเตรียมแผนจัดตั้ง รพ.สนามและศูนย์พักคอยภายใน โดยมีสำนักงานสาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา และอำเภอท้องที่เข้าไปควบคุมดูแล
กรณีแรงงานเดินทางข้ามจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มหากเป็นแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคต้องได้รับครบ 2 เข็ม โดยหากยังไม่ได้รับวัคซีนให้เจ้าของสถานประกอบการทำ Antigen Test Kids แบบสุ่มตรวจร้อยละ 10 จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในทุกๆ 7 วัน และหากโรงงานทำตามแผนที่กำหนดแล้ว ยังคงพบผู้ติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 5 ให้ทำตามแผนเผชิญเหตุ และหากทำตามแผนเผชิญเหตุแล้ว ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากถึงร้อยละ 10 ขึ้นไปให้สั่งปิดทันที
เมื่อโรงงานพบผู้ติดเชื้อและถูกสั่งปิดแล้ว หากทางโรงงานมีแผนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มานำเสนอ เพื่อขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา พิจารณาทบทวนให้เปิดได้ใหม่แม้จะยังไม่ครบ 14 วันก็ตาม
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในนิคมอุตสาหกรรมย่าน กม.35 ริมถนนสายบางนา-ตราด (เทพรัตน) ใน อ.บางปะกง ซึ่งมีแรงงานมาทำงานถึงวันละกว่า 5 หมื่นคนว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (22 ก.ค.64) ทางผู้บริหารโรงงานหลายแห่งได้พยายามที่จะเรียกร้องขอให้ทาง จ.ฉะเชิงเทรา ทบทวนผ่อนปรนเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัด เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ มีแรงงานจากหลายพื้นที่เข้ามาทำงานอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก
สาเหตุจากมีที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณรอยต่อของพื้นที่หลายจังหวัด จึงทำให้มีแรงงานจากต่างพื้นที่เดินทางไปกลับทั้งจากใน จ.สมุทรปราการ ชลบุรี และกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากการล็อกพื้นที่ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อด้านการผลิตอย่างมาก โดยจะมีการยื่นเรื่องขอทบทวนให้ผ่อนปรนผ่านไปทางผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม แต่ปรากฏว่าในวันนี้ผู้ประกอบการหลายแห่งได้ถูกเรียกเข้าไปร่วมประชุมกับทางคณะกรรมการโรคติดต่อในตัวจังหวัดแล้ว และยังมีมติยืนตามมาตรการเดิม
ส่วนอีกด้าน ผู้สื่อข่าวยังได้รับการร้องเรียนจากทางพนักงานในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งด้วยว่า ยังมีผู้ประกอบการบางรายละเลยเกี่ยวมาตรการเข้มงวดและคัดกรองโรคโควิด 19 ทั้งยังคงมีการปล่อยละเลยให้พนักงานผู้มีความเสี่ยงสูงเข้ามาทำงานปะปนกับพนักงานรายอื่นๆ ด้วย จึงทำให้พนักงานในไลน์การผลิตที่ไม่ได้อยู่ในจุดสัมผัสโรค ต่างพากันหวาดกลัวไปตามๆ กันว่าจะได้รับเชื้อจากผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และยังถูกปล่อยให้กลับเข้ามาทำงานได้
ขณะที่การประชุมวันนี้ได้มีผู้แทนจาก บริษัทไทยแอโรว์ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบไฟฟ้าในรถยนต์ ในพื้นที่ อ.บางคล้า ซึ่งมีพนักงานติดเชื้อโควิด 19 ถึงกว่า 500 คน และผู้มีความเสี่ยงสูงกว่า 600 คน จากพนักงาน 4,200 คน ที่เคยถูกคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ฉะเชิงเทรา สั่งปิดโรงงานเป็นเวลา 14 วันไปก่อนหน้านี้ หลังปล่อยให้พนักงานผู้มีความเสี่ยงสูงกลับเข้ามาทำงานในแผนกอื่นได้ ทั้งที่ยังอยู่ระหว่างช่วงกักตัว จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในไลน์การผลิตเดิมที่ถูกปิดไป
โดยในวันนี้ได้เข้ามายื่นเสนอแผนเพื่อขอเปิดโรงงานก่อนกำหนด 14 วัน หลังจากถูกสั่งปิดมาแล้วเป็นเวลา 5 วัน แต่ในที่ประชุมได้ขอให้ทางบริษัทนำกลับไปทบทวนแผนใหม่ และให้นำกลับมายื่นเพื่อเข้ามารับการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนรอบข้างด้วย
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา