In News

เกษตรกรผู้ค้าในตลาดศรีเมืองรวมตัวร้อง คำสั่งปิดตลาดไม่มีมาตรการรองรับ 



ราชบุรี -เกษตรกรผู้ค้าภายในตลาดศรีเมืองเดือด ทางจังหวัดออกคำสั่งปิดตลาด โดยไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบต่อเกษตรกร พร้อมยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เตรียมรวมกลุ่มขนพืชผักและผลไม้ที่จำหน่ายไม่ได้ เทหน้าศาลากลางจ.ราชบุรี เพื่อให้ผวจ.ราชบุรี รับผิดชอบความเสียหาย 

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 26 ก.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดกลางค้าผักและผลไม้ อาคาร 15 ตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี กลุ่มเกษตรกรผู้ที่ได้รับเดือดร้อน จากคำสั่งการปิดตลาดศรีเมือง เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของจ.ราชบุรี โดยสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. - 2 ส.ค. เป็นเวลา 7 วัน ทำให้เกษตรกรที่นำผักมาขายที่ตลาดศรีเมือง ไม่มีสถานที่ซื้อขายพืชผักและผลไม้ และเกรงว่าถ้าปิดตลาดจะส่งผลให้พืชผักผลไม้ขายไม่ได้จนเน่าเสีย ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนขาดทุน และอาจจะทำให้ส่งผลต่อวัฏจักรของการผลิตอาหาร เนื่องด้วยไม่มีพืชผักเข้ามาขายในตลาด และมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง หากปิดตลาดศรีเมือง ผู้ประกอบการและลูกจ้างกว่า 70,000 คน ต้องหยุดและกลับไปพักอาศัยอยู่กับบ้าน อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่ว 

ทางกลุ่มเกษตร จึงได้ร่วมตัวลงรายชื่อเพื่อเรียกร้องหามาตรการรองรับผลเสียที่เกิดขึ้น ผ่าน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานบริหารตลาดศรีเมือง ถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการออกคำสั่งโดยไม่มีมาตรการรองรับของทางจ.ราชบุรี โดยทางกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ได้รับเดือดร้อนได้มีการนัดหมายรวมกันในวันที่ 28 ก.ค. เวลา 09.00 น. เพื่อนำผักและผลไม้ที่ได้รับความเสียหาย ไปเทที่หน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องหาคำตอบจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในการออกคำสั่งปิดตลาดศรี แบบไม่มีมาตรการรองรับ ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น 

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานบริหารตลาดศรีเมือง กล่าวว่า ตลาดศรีเมือง เป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก มีผลผลิตเข้ามาวันนึงประมาณ 7 พันตัน รวบรวมสินค้าของภาคตะวันตกที่เป็นพืชสวนกระจายสู่ทุกภูมิภาค ผู้ประกอบการค้าในนี้ ผู้ให้บริการประมาณ 7 พันคน เกษตรกรของภูมิภาคนี้ประมาณ 3 แสนคน ที่หมุนเวียนเข้ามาจำหน่ายพืชผลทางเกษตร วันละประมาณ 12,000 คน ในส่วนของตลาดศรีเมืองมีปัญหาเรื่องของแรงงานต่างด้าว อาจจะมีการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งทางจังหวัดนั้นได้เข้ามาพีทีอาร์ตรวจพบไปแล้วประมาณ 500 กว่าราย และแยกคนเหล่านี้ออกแล้ว พร้อมดำเนินการปิดอาคารบางอาคาร ซึ่งตลาดศรีเมืองก็น้อมรับและเห็นด้วย 

ซึ่งก่อนเข้าสู่อาคารที่ปิดนั้น ทางตลาดได้ใช้ Rapid test ตรวจกรองอีกชั้นนึง ซึ่งอาคารที่ปิดไปนั้น เราตรวจคัดกรองประมาณ 3,000 คน พบบวกประมาณ 100 คน แล้วส่งให้ทางสาธารณสุขไปดำเนินการ พีทีอาร์อีกรอบนึง และทางตลาดศรีเมืองได้มีการวางแผนไว้ว่า สำหรับผู้ประกอบการค้า ลูกจ้าง ผู้ให้บริการประมาณ 7,000 คน เราจะใช้ระบบ Rapid test ตรวจสอบคัดกรองด้วยเงินของตลาด และผู้ประกอบการค้าร่วมกัน โดยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่คาคว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ปัญหาคือจากคนสู่คน คนที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโควิด-19 อาจเป็นพาหะนำโรค ต้อง Rapid test ในการตรวจเบื้องต้น เราตั้งใจจะทำอย่างทุกๆ 14 วัน คัดกรองอย่างถี่ และตั้งใจว่า หากอาคารไหนพบผู้ติดเชื้อเกินกว่า 3 % เราจะเพิ่มความถี่ของการตรวจ Rapid test เป็น 7 วัน นี้คือมาตรการของตลาดศรีเมือง 

นายนภินทร กล่าวต่อว่า โดยตนได้หารือกับทางกรมอนามัย ทางกรมอนามัยเห็นด้วยว่า เป็นมาตรการที่ดี แล้วก็เป็นแบบอย่างที่ดีของการบริหารตลาด เราได้ส่งมาตรการเหล่านี้ให้กับคณะกรรมการโรคติดต่อ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ก่อนการประชุม แล้วการประชุม Conference ทางตลาดได้ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ เพื่อวางมาตรการให้ดีขึ้น ปรากฎว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ยอมให้ทางตลาดศรีเมืองชี้แจง และในช่วงบ่าย ได้มีคำสั่งปิดตลาด 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. ไปถึง 2 ส.ค. 

ตนกราบเรียนด้วยความเคารพว่า การปิดตลาดนั้น ทางตลาดศรีเมืองมีความกระทบแต่เรารับได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือปิดแล้ว ผู้ประกอบการค้าที่อยู่ที่นี่ ลูกจ้าง พนักงานผู้ให้บริการกว่า 7 พันคน ทางจังหวัดมีมาตรการรองรับอย่างไรไหม แต่ากลับไม่มีแล้วให้คนเหล่านี้กลับภูมิลำเนา กลับไปค้าขายตามจุดต่างๆแทน การแก้ปัญหาแบบนี้ของจังหวัด ไม่ได้ช่วยให้ลดปัญหาของการกระจายเชื่อโควิดลดลง  แต่ทำให้เชื้อถูกกระจายออกไปทั่วทุกทิศทุกทาง ยิ่งไปกว่านั้นในระบบห่วงโซ่อาหาร ที่นี่มีผลผลิต 7 พันตันต่อวัน เกษตรกร 3 แสนคนที่หมุนเข้ามาวันละ กว่า 2 หมื่นคน เขาจะไปขายที่ไหน เขาไม่สามารถชะลอการเก็บเกี่ยวได้ นี่คือผลกระทบที่ใหญ่หลวง ห่วงโซ่อาหารนั้นขาดหายไป เกษตรกรไม่มีที่ขาย ผู้บริโภคไม่มีที่ซื้อ ผู้บริโภคซื้อของแพง เกษตรกรขายได้ของถูก 

นายนภินทร กล่าวอีกว่า จากคำสั่งของจ.ราชบุรี เกษตรกรยอมตัดสินค้า ซึ่งถึงแม้จะไม่ถึงกำหนดก็ต้องออกมาขาย ยอมขาดทุนต่างๆให้เป็นเงินเอากลับบ้าน ที่เหลือยอมปล่อยทิ้ง น่าเห็นใจที่สุด รถซื้อที่ขนไปทางใต้ยอมหยุดครึ่งหนึ่ง ยอมเสียค่าปรับ เพราะไม่รู้จะเอาสินค้าที่ไหน นี่คือปัญหาของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งถามว่าจังหวัดมีแผนรองรับอะไรไหม แต่ ถามไปไม่เคยมีคำตอบ การออกคำสั่งนั้นต้องมีแผนรองรับ เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ในเบื้องต้นว่า มีผลกระทบอะไรบ้าง  ควรจะใช้ดุลพินิจที่ดีกว่านี้ มองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นมา 

การแก้ปัญหาโควิด-19 นั้นต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มันถึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่การใช้อำนาจของภาครัฐนั้น ไม่ยอมฟังภาคเอกชน ไม่ยอมฟังภาคประชาชน ที่พยายามคิด พยายามช่วย และออกคำสั่งไร้กฎเกณฑ์ไร้มาตรการรองรับ ในวันนี้กลุ่มเกษตรกรจึงได้ทำหนังสือถึงคณะท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน ศบค. ได้โปรดพิจารณาทบทวนในเรื่องเหล่านี้ ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งตนจะส่งเรื่องเข้าไปภายในวันนี้ 

ขณะที่ นายไชยวิทย์ บัวงาม ประธานสภาเกษตรกร อ.เมืองราชบุรี กล่าวว่า ตนได้มายื่นหนังสือการแก้ไขปัญหา คำสั่งปิดตลาดศรีเมือง โดยยื่นไป 2 ที่ ที่แรกคือศรีเมือง ที่ 2 คือท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนคำสั่งปิดตลาดศรีเมือง เพราะว่าสร้างผลกระทบกับพี่น้องเกษตรกรในจ.ราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ได้ยื่นให้คุณนภินทร เป็นที่เรียบร้อย เพื่อส่งให้ถึงมือผู้หลักผู้ใหญ่ในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะเกษตรกรในภาคตะวันตก และเกษตรภาคใกล้เคียง ได้นำพืชผักและผลไม้มาจำหน่ายที่ตลาดศรีเมือง เพราะเป็นตลาดภาคตะวันตกในการกระจายพืชผักและผลไม้ออกสู่ภาคใต้และหลายๆที่ ทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง จากการที่สั่งปิดตลาดศรีเมือง 

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี