Biz news

วิศวฯจุฬาฯถอดบทเรียนอุบัติเหตุสารเคมี



กรุงเทพฯ-วิศวฯ จุฬาฯ จับมือเหล่านักวิชาการและภาคธุรกิจร่วมถอดบทเรียนเปิดมุมมองวิศวกรรมเพื่อการป้องกันและรับมืออุบัติเหตุสารเคมีในอนาคต

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ครั้งใหญ่ของโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกในซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตัวของสังคมในด้านการรับมืออุบัติเหตุจากสารเคมีและผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล็งเห็นความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการจัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “เปิดมุมมองวิศวกรรมเพื่อการป้องกันและรับมืออุบัติเหตุสารเคมีในอนาคต” ขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าวว่า ในขณะที่เราสามารถควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ได้แล้ว แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีอยู่ และในอนาคตก็อาจเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้เช่นนี้ได้อีกในพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการรับมือก่อนเกิดเหตุ รวมทั้งการดำเนินการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง การเสวนาในครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในด้านวิศกรรมจากหลากหลายภาคส่วนและหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการภัยพิบัติ ทั้งมิติการเตรียมความพร้อม การรับมือ/ตอบสนองต่อเหตุการณ์ การเยียวยาฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น และจะสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการสารอันตรายในอนาคต

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้เล่าถึงภาพรวมเหตุการณ์โรงงานโฟมระเบิด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากสไตรีนโมโนเมอร์ เพนเทน และสารละลายอื่น ๆ ก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายมหาศาล ถึงแม้จะสามารถควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ได้แล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องปัญหามลพิษต่อไป สำหรับสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่รั่วไหลได้ทำการใช้สารเคมีเพื่อเปลี่ยนสภาพให้มีความหนืดขึ้น ไม่ติดไฟ และระเหยได้น้อยลง โดยคาดว่ายังมีสารดังกล่าวเหลืออยู่ในพื้นที่เกิดเหตุอีกกว่าหนึ่งพันตันในภาชนะบรรจุสารเคมี ซึ่งได้ทำการใช้โฟมและน้ำหล่อบริเวณโดยรอบเอาไว้ไม่ให้อุณหภูมิของสารถึงจุดวาบไฟ ก่อนที่จะนำสารดังกล่าวออกจากพื้นที่

นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามตรวจสอบมลพิษที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำและที่ดินได้อย่างปลอดภัย และหลังจากนี้จะมีการพิสูจน์หลักฐานเพื่อประเมินค่าเสียหาย ค่าฟื้นฟู และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยมีสรุปปิดท้ายว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้จะถูกจัดการได้ดียิ่งขึ้น หากเรามีมาตรการหรือกฎหมายที่ชัดเจน มีความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงมีการเปิดเผยฐานข้อมูลให้ชุดเผชิญเหตุสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว

นายวรพัทธ์ พรพัฒนาพงศ์ ผู้จัดการวิศวกรรมความปลอดภัยกระบวนการผลิต บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวเกิดจากกระบวนการผลิต Expanded Polystyrene (EPS) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาคายความร้อนที่มีสไตรีนโมโนเมอร์และเพนเทนเป็นสารตั้งต้น กระบวนการดังกล่าวอาศัยการออกแบบระบบที่มีประสิทธิภาพ มีการตรวจวัดการรั่วไหลของก๊าซอยู่ตลอดเวลา และผู้ปฏิบัติงานจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสการเกิดความผิดพลาด นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยง การซ้อมแผนฉุกเฉิน ก็มีความสำคัญ และการขนส่งลำเลียงเม็ดโพลีสไตรีนไม่ว่าจะเป็นทางรถ เรือ หรือทางท่อ ก็ต้องมีความระมัดระวังเรื่องการควบคุมอัตราการไหลและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับออกซิเจนเพื่อป้องกันการระเบิด

นายแสงจันทร์ ผานิล ผู้จัดการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ชี้ให้เห็นแนวทางการหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต โดยให้โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตควบคุม เช่น นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีศูนย์บัญชาการคอยรองรับการจัดการและควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงงานจะต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ก่อนได้รับอนุญาตการก่อสร้าง และต้องมีความพร้อมเรื่องมาตรการความปลอดภัย มาตรการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม และการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินต่าง ๆ นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูล Big Data ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยประกอบการตัดสินใจ ทั้งการวาง Layout ของโรงงาน การออกแบบแผนงาน ตลอดจนการเข้าเผชิญเหตุ การบูรณาการข้อมูลจากหลากหลายภาคส่วน จะช่วยให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการประเมินการกระจายตัวของมลสาร การประเมินความเสียหาย หรือแม้กระทั่งการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและผู้เผชิญเหตุ และการชี้แจงสื่อสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้แก่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องก็มีความสำคัญอย่างมาก

นายณัฐธัญ ละอองทอง ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการบริหารภาวะฉุกเฉิน บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด ได้อธิบายถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้สำหรับสารกลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่าเพลิงไหม้ทั่ว ๆ ไป และสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1. เหตุเพลิงไหม้ และ 2. อุบัติภัยสารเคมี เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมในครั้งนี้ มีลักษณะเพลิงไหม้เป็นแบบ Three-dimension (3D) fire ซึ่งมีการกระจายตัวของไฟทั้งในแนวราบ คือกระจายออกเป็นวงกว้าง และแนวดิ่ง คือกระจายสูงขึ้นด้านบนและลงไปด้านล่าง จึงยากต่อการควบคุม ทั้งนี้ เพลิงไหม้ที่เกิดจากสารเคมีในลักษณะนี้ต้องใช้โฟมในการควบคุมเพลิง และเมื่อดับเพลิงสำเร็จก็ต้องมีการเฝ้าระวังการเกิดปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชันของสไตรีนโมโนเมอร์ที่หลงเหลืออยู่

นายเสริมศักดิ์ นันทพงศ์ ผู้จัดการอาชีวอนามัย ความปลอดภัย ป้องกันและระงับอัคคีภัย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้สรุปภาพรวมของกระบวนการป้องกันอันตรายจากโรงงานสารเคมีและสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน โดยแบ่งกระบวนการออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนเกิดการรั่วไหลของสารเคมี ซึ่งจะต้องดูในเรื่องของการออกแบบและก่อสร้างที่ได้มาตรฐานและถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ระบบมีการดูแลตรวจสอบโดยวิศวกร ทุกขั้นตอนของการดำเนินการจะต้องมีแผนที่ชัดเจน มีการมองหาจุดอ่อนแล้วดำเนินการแก้ไขและพัฒนาอยู่เสมอ หากการรั่วไหลของสารเคมีได้เกิดขึ้นแล้วก็ต้องรู้ให้เร็ว มีการป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิด เลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และมีการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการระงับเหตุและเผชิญเหตุให้มีความพร้อมอยู่เสมอ สุดท้ายหากเกิดอุบัติเหตุก็ต้องนำแผนฉุกเฉินมาปรับใช้เพื่อพร้อมเตรียมรับสถานการณ์ และต้องมีการสื่อสารให้ทุกหน่วยงาน/ภาคส่วนที่เข้าให้การช่วยเหลือมีความเข้าใจและเห็นภาพเดียวกัน

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้แสดงข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมการใช้ที่ดินในรัศมี 5 กม. จากจุดเกิดเหตุ พบว่าเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีก่อน มีการพัฒนาเมือง/พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยในบริเวณนี้อย่างรวดเร็วจนเข้าใกล้บริเวณที่โรงงานตั้งอยู่ และในเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ ได้มีการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เพื่อทำให้ทราบถึงข้อมูลเชิงพื้นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งลี้ภัย ทิศทางการเคลื่อนตัวของสารเคมี แหล่งน้ำสำหรับการดับเพลิง เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการบริหารจัดการป้องกันภัย การวางแผนเพื่อให้เกิดการสูญเสียที่น้อยที่สุด และยังสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดำเนินการทางกฎหมายได้ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องคิดอย่างเป็นระบบ (Project-based management) ที่มีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา

อาจารย์ ดร.วิน ไตรวิทยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอการใช้โมเดลอากาศสำหรับการเตือนภัยและป้องกันผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อมูลที่ต้องใช้ในการทำแบบจำลอง ได้แก่ ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลการปลดปล่อยมลสาร จากนั้นได้แสดงผลแบบจำลองมลสารสไตรีนในอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งถูกลมพัดพาไปยังด้านทิศตะวันออก โดยได้ประเมินความเสี่ยงการตกสะสมของสไตรีนลงสู่บ้านพักอาศัย น้ำใต้ดิน และสัตว์น้ำ พบว่าอยู่ในค่าที่ยอมรับได้ แต่ก็ยังต้องติดตามผลกระทบในตัวกลางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปิดท้ายการนำเสนอด้วย 2 บทเรียน ได้แก่ (1) แบบจำลองการแพร่กระจายมลพิษเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดมาตรการรับมือกับภัยพิบัติ (2) ระบบรายงานและเปิดเผยข้อมูล (Emission inventory) จะช่วยให้มาตรการที่กำหนดมีความเจาะจงมากยิ่งขึ้นในแง่อุตุนิยมวิทยาและอัตราการปล่อยมลสาร

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งภายนอกและภายในอาคารบ้านเรือนโดยรอบบริเวณจุดเกิดเหตุ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้อพยพก่อนกลับเข้าสู่พื้นที่ โดยมีการตรวจวัดสารสไตรีน สารอินทรีย์ระเหยง่าย และสารมลพิษอากาศในรูปก๊าซและอนุภาคอื่น ๆ รวมถึงมีการติดตามค่า Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) อย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นพบว่ามีค่ามลพิษอากาศโดยรวมไม่เกินมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ นอกจากนี้ ได้ให้คำแนะนำสำหรับประชาชนที่พักอาศัยในระยะรัศมีมากกว่า 2 กิโลเมตร ให้เตรียมตัวก่อนกลับเข้าสู่ที่พัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องฟอกอากาศสำหรับกลุ่มเปราะบาง การตรวจสอบคุณภาพอากาศภายนอกอาคารก่อนเปิดหน้าต่างเพื่อระบายสารที่สะสมอยู่ภายในบ้าน การเช็ดถูทำความสะอาดการสะสมของสารอินทรีย์ระเหยง่าย รวมไปถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ได้ให้คำแนะนำเรื่องการจัดการของเสียที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ ควรมีการคัดแยกให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสารสไตรีนที่หลงเหลืออยู่ สารสไตรีนที่ปนเปื้อนด้วยสารดับเพลิงชนิดต่าง ๆ ของเสียที่เกิดจากการระงับเหตุอื่น ๆ เช่น ขี้เถ้า หากสามารถคัดแยกสิ่งเหล่านี้ได้ดี ก็จะทำให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเคลื่อนย้ายของเสียต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ว่าจะนำไปกำจัดโดยการเผาหรือการฝังกลบแบบของเสียอันตราย มีการติดตามและฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบ การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากโรงงานอยู่ภายนอกนิคมอุตสาหกรรม แนวทางการป้องกันและรับมืออุบัติเหตุจากสารเคมีในอนาคตควรคำนึงถึงการผลักดันกฎหมาย PRTR การประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนการพัฒนากฎหมายให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเหตุการณ์ในปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปประเด็นจากการเสวนาที่แสดงให้เห็นถึงมาตรการจัดการสารอันตรายตั้งแต่ต้นทางจนถึงการใช้ประโยชน์ รวมถึงองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการจัดการหากเกิดอุบัติเหตุในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ตลอดจนการนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประกอบเพื่อให้เกิดการจัดการสารอันตรายอย่างเหมาะสม

สามารถติดตามการเสวนาย้อนหลังได้ที่
https://web.facebook.com/ChulaEngineering/videos/190228889623104