In News
ชาวอุดรธานีร่วมใจสร้างกระท่อมพักคอย กักตัวลูกหลานกลับมารักษาตัว
อุดรธานี-ความสามัคคีมันยิ่งใหญ่สู้วิกฤตโควิดไปได้ ชาวบ้านอุดรฯ ร่วมแรงร่วมใจสร้างกระท่อมพักคอยในป่าชุมชนกักตัวลูกหลานกลับจากพื้นที่เสี่ยง
สถานการณ์ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานปานบั้งไฟแสน ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในภาคอีสานห่วงใยลูกหลานที่ไปทำงานหาเงินในเมืองกรุง ชนิดกินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องโทรศัพท์ถามไถ่กันตลอดเวลา เมื่อโรงงานปิด ไม่มีงาน ไม่มีเงิน แต่ต้องจ่ายค่าห้องเช่า ผู้เฒ่าต้องส่งเงินไปให้ลูกหลานไว้ใช้จ่าย แต่ไม่รู้ว่าโรคระบาดจะสิ้นสุดวันใด ลูกหลานจึงตัดสินใจกลับบ้าน แต่ติดตรงไม่มีที่กักตัว พักคอย ทำให้ผู้นำชุมชนต้องปรึกษาหาเรือ ในที่สุดจึงตกลงสร้างกระท่อมไม้ไผ่บริเวณป่าชุมชน ไว้สำหรับกักตัว โดยอาศัยความร่วมแรง ร่วมใจจากคนในหมู่บ้าน มีทหารมาเสริมแรง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาสนับสนุนอุปกรณ์ 10 วันสร้างเสร็จไปแล้ว 12 หลัง เป้าหมายอยู่ที่ 30 หลัง
วันที่ 6 สิงหาคม 2564เวลา 15.00 น. ป่าชุมชนบ้านหลวง ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี หลังทราบว่าชาวบ้านร่วมกันสร้างกระท่อมไม้ไผ่ สำหรับพักคอย กักตัวลูกหลานจากพื้นที่เสี่ยง พบนายอำนวย อินทรธิราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่ เดินทางมาให้กำลังใจชาวบ้านหลวง หมู่ 5 บ้านม่วง หมู่ 11 บ้านหลวง หมู่ 14 และบ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 17 ซึ่งกำลังช่วยกันสร้างกระท่อมไม้ไผ่ยกพื้นสูง 1 เมตร กว้าง 2.5 เมตร ยาว 2.5 เมตร มุงด้วยไพรหญ้า จำนวน 12 หลัง สำหรับเป็นที่ที่กักตัว ลูกหลานที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่เสี่ยง โดยส่วนมากจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน และได้รับการสนับสนุนกำลังพลจากค่ายเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 จ.อุดรธานี ส่งกำลังมาช่วย 10 นาย ทำให้กระท่อมทั้ง 12 หลัง ใกล้เสร็จสมบูรณ์ มีไฟฟ้า น้ำประปา พร้อมใช้ แต่ยังขาดชุดเครื่องนอน เท่านั้น
นายอำนวย อินทรธิราช นายก อบต.นาพู่ เปิดเผยว่า ตำบลนาพู่ มี 17 หมู่บ้าน ประชากร 13,000 คน ได้ประชุมผู้นำชุมชน ให้หาพื้นที่ดูแลลูกบ้านตัวเอง เพราะตำบลนาพู่ไม่มีสถานที่พักคอย แต่ละหมู่บ้านจึงต้องหาที่พักคอย ผู้ที่จะเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง มากักตัวและตรวจหาเชื้อ 14 วัน ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน หมู่ 5 หมู่ 11 หมู่ 14 หมู่ 17 ได้ประชุมร่วมกัน ตกลงสร้างกระท่อมไม้ไผ่ ในป่าชุมชนบ้านหลวงเป็นที่พักคอย โดยให้แรงงานจากชาวบ้าน และได้รับการสนับสนุนไม้ไผ่ และไม้ยูคาจากชาวบ้านร่วมกันบริจาค คนที่ว่างจะมาช่วยก่อสร้าง คนที่ไม่ว่างก็จะสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม สิ่งของต่าง ๆ ส่วน อบต.นาพู่ ได้สนับสนุน หญ้าคา ไม้อัดปูพื้น ต่อไฟฟ้า ต่อน้ำประปา สร้างห้องน้ำ ซึ่งชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันดีมาก สร้างมา 10 วัน ได้ 12 หลัง เป้าหมายจะสร้าง 30 หลัง วันจันทร์น่าจะเปิดใช้รองรับลูกหลาน
“จุดพักคอย กักตัว อยู่ในป่าชุมชนบ้านหลวง อากาศร่มรื่น เย็นสบาย ห่างจากหมู่บ้าน 500 เมตร ส่วนการบริหารจัดการดูแลความปลอดภัย มีการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน จัดเวรยามดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชม. อบต.นาพู่ มีการสนับอาหารทั้ง 3 มื้อ ชาวบ้านยังได้ปลูกสมุนไพร ทั้งขิง ข่า ตะไคร้ กระชายขาว หอมแดง ฟ้าทะลายโจร สำหรับอบสมุนไพรให้ผู้กักตัว หากไม่พอสามารถบริจาคสมุนไพรได้ที่ อบต.นาพู่ ซึ่งจะได้จัดสรรมาให้เพียงพอ จึงขอเชิญชวนชาวตำบลนาพู่ที่ไปทำงานกรุงเทพฯ หรือพื้นที่เสี่ยง ถ้าอยากกลับบ้าน ตอนนี้มีที่พักคอยพร้อม 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว สามารถติดต่อผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านมาได้”
ส่วนนางสุภา แอนด์เดอร์สัน ผู้ใหญ่บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 17 ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ได้ปรึกษาหาเรือคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน เพื่อหาจุดพักคอยให้ลูกหลานที่อยากจะเดินทางกลับมา เพราะการระบาดมันน่ากลัว คนอยู่กรุงเทพก็ลำบากกลัวติดเชื้อ อยากกลับบ้าน เราจึงมาสร้างเป็นกระท่อม หรือกระต๊อบแยกเป็นสัดส่วน และอยู่ห่างจากชุมชน ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านฉีดวัคซีนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แถมยังมีโรคประจำตัว หากลูกหลานกลับมาก็กลัว จึงสร้างกระท่อมอยู่ในป่าชุมชนให้อยู่ห่างจากหมู่บ้าน อยู่แล้วสบายใจ ไม่ต้องกังวล
“ผู้ใหญ่บ้านได้ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายว่าจะสร้างจุดพักคอยให้ลูกหลานที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ในป่าชุมชน ชาวบ้านก็บริจาคไม้ไผ่ ไม้ยูคา คนละ 20-30 ลำ แรงงานจะเป็นคนใน 4 หมู่บ้าน ส่วนคนที่ไปทำงานไม่มีเวลามาช่วยก็จะบริจาคอาหารและน้ำดื่ม หรือทำอาหารกลางวันมาให้คนทำงานได้มีกำลังใจ คณะกรรมการได้ปรับพื้นที่ให้น่าอยู่ขึ้น มีต้นไม้ใหญ่เป็นร่มเงา สร้างมา 10 วัน ได้ 12 หลัง ซึ่งมีกำลังทหารมาช่วยทำให้งานคืบหน้าเร็วขึ้น ตอนนี้มีลูกหลานที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ติดต่อขอมากักตัวจำนวนมาก เพราะกังวลมากมีแต่คนติดเชื้อ งานก็ไม่ได้ทำ เพราะโรงงานปิด คือทุกวันนี้ แม่ต้องได้ส่งเงินไปให้ใช้ งานไม่ได้ทำ แต่ค่าห้องก็ต้องจ่าย จะกลับมาก็ไม่มีที่พักคอย กักตัว ตอนนี้ขาดที่นอน หมอน มุ้ง หากมีมีจิตศรัทธา ช่วยเหลือสู้วิฤกตโควิด สามารถติดต่อขอบบริจาคไปได้ที่ อบต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ”
นายใจสัตย์ ขันตรีสระพังหลวง อายุ 60 ปี ชาวบ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 17 ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า รู้สึกหนักใจ เพราะลูกหลานโทรมาทุกวัน เราก็รู้สึกเห็นใจ เพราะเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น ต้องเร่งสร้าง โดยมีชาวบ้านมาร่วมช่วยกัน 50-60 คน ส่วนไม้ไผ่ ไม้ยูคา ชาวบ้านได้ปลูกไว้ตามท้องไร่ท้องนาได้บริจาคให้ แต่เราต้องให้แรงงานไปตัด แบ่งงานกันทำ พอมีทหารเข้ามาช่วยก็เร็วดี เพราะเห็นใจลูกหลานที่ไปทำงานไกล ตอนนี้ยังไม่มีที่รองรับ ต้องไปกักตัวตามเถียงนา จึงต้องรีบสร้างจุดพักคอย มันจะทำให้ดูแลง่าย
“ความสามัคคีมันยิ่งใหญ่กว่าโรคใดๆ ถ้าเราไม่สามัคคีกัน ได้แต่รอหน่วยงานอื่นมาช่วยเหลือ ไม่รีบสร้างขึ้นก็ไม่ทันการณ์ ความสามัคคีมาอันดับ 1 โรคโควิดมันจะระบาดแค่ไหน ถ้าคนเราแก้ไขได้ มันก็หายไปได้ มันเกิดกับชุมชนเรา ก็ต้องแก้ไข เมื่อก่อนก็ไม่เคยมีโรคนี้ ถ้าเราสามัคคีกันก็จะแก้ได้ โรคอะไรก็เหมือนกัน ถ้าขาดความสามัคคี โรคก็จะลุกลามไปเรื่อย เมื่อมันเกิดขึ้นได้ ก็ต้องแก้ไขได้ ไม่ต้องโทษหน่วยงานไหน หรือใคร ว่าเลือกช่วยเหลือ เราต้องแก้ที่ชุมชนเราก่อน ถึงไม่มีเงินก็ช่วยด้วยแรง ก็จะสำเร็จไป หน่วยงานก็จะช่วย แต่กว่าจะมาถึงเรา เพราะไม่ได้เป็นแต่ชุมชนเรา เป็นกันหมดทั้งประเทศ ถ้าชุมชนเราสมัครสมานสามัคคีกัน ก็คิดว่าโควิดก็จะหายไปจากชุมชนของเราแน่นอน”
กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี