In News
ร้องขอส.ส.เชียงรายช่วยคนไทยกลับบ้าน ตกค้างในท่าขี้เหล็กหนีโควิดพม่า
เชียงราย-นักวิชาการจาก มฟล.เชียงราย ยื่นหนังสือถึง ส.ส.เชียงราย ช่วยคนไทยตกค้างในท่าขี้เหล็ก กลับไทย เผยสถานการณ์โควิด-19 ในเพี่อนบ้านเริ่มรุนแรงจึงทำให้คนไทยอยากกลับบ้าน พร้อมหนุนแก้ไขปัญหาในระยะยาว ประสานงานเพื่อดูแลแรงงานไทยที่ข้ามไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นระบบ
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 9 ส.ค.64 จากกรณีมีคนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงสาวข้ามไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ติดกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อทำงานตามสถานบันเทิงต่อมามีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานบันเทิงต่างปิดตัวลงทำให้คนเหล่านี้ได้ร้องขอกลับประเทศไทยนั้น ล่าสุดมีผู้ร้องขอผ่านทางศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย 29 คน ขณะที่มีรายงานว่าทางการท้องถิ่นเมียนมาได้สำรวจพบมีจำนวนกว่า 72 คน และมีผู้ร้องผ่านสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ไม่น้อยกว่า 20 คนนั้น ทางคณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมา หรือทีบีซีฝ่ายไทยและเมียนมา ได้ร่วมกันช่วยเหลือนำคนไทยกลับมาแล้ว 19 คน
ล่าสุด อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ได้ยื่นหนังสือต่อ นายเอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และนายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย ในฐานะโฆษกคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยเหลืออีกทางหนึ่งแล้ว
โดยได้ยืนหนังสือบริเวณจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย หนังสือมีเนื้อหาว่าได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มคนไทยว่าประสบกับความเดือดร้อนในการเดินทางกลับประเทศ เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเมียนมา ทำให้สถานที่ทำงานปิดตัวลงและทำให้ทั้งหมดต้องตกงาน แต่หลังจากหลังจากแจ้งสถานเอกอัคราชทูตไปตั้งแต่เดือน ก.ค.ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่ถูกส่งตัวกลับ ทั้งๆ ที่ทุกคนยินดีถูกเปรียบเทียบปรับตากฎหมายประเทศเมียนมา และเข้าสู่กระบวนการกักตัวของประเทศไทย
อาจารย์สืบสกุล ระบุอีกว่าดังนั้นจึงได้ยื่นหนังสือขอให้ กมธ.ทั้ง 2 คณะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำพาคนไทยกลับประเทศ รวมทั้งขอให้ศึกษาและเสนอแนะนโยบาย แนวทางรวมถึงมาตรการเรื่องการบริหารจัดการแรงานไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา ลาว ให้สามารถเดินทางข้ามแดนและได้รับอนุญาตทำงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
ด้านนายพีรเดช กล่าวว่าเบื้องต้นจะนำส่งข้อมูลไปยังกรมการปกครองที่อยู่ใน อ.แม่สาย และจะนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์ถัดไป ลำดับที่สองจะได้ประสานกับทีบีซีว่ามีข้อขัดข้องใด กระนั้นยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้ทอดทิ้งคนไทยแต่ติดปัญหาคือมีความล้าช้าในการส่งตัวกลับมาเท่านั้น
ด้านนายเอกภพ กล่าวว่าสำหรับกรณีทางอาจารย์สืบสกุลแจ้งเรื่องโครงการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เรื่องการประสานงานเพื่อดูแลแรงงานไทยที่ข้ามไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีระบบที่ดูแลอย่างเป็นรูปแบบ ซึ่งหากทำได้ดีก็จะผลดีต่อเศรษฐกิจชายแดนโดยเฉพาะ จ.เชียงราย เป็นเมืองเศรษฐกิจการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ทาง กมธ.จะรับไปศึกษาข้อกฎหมายและรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและหากได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน จ.ท่าขี้เหล็ก พบว่ามีผู้ป่วยสะสมในเดือน ก.ค.-ส.ค.จำนวน 1,748 ราย ล่าสุดมีชายอายุ 101 ปีติดเชื้อด้วย นอกจากนี้พบมีชาวเมียนมาที่เดินทางกลับจากการไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ สปป.ลาว จำนวน 276 คน และพบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 37 คน
ในขณะที่การฉีดวัคซีนให้ชาวเชียงราย นายเอกภพ ทราบว่ามีประมาณ 1 แสนกว่าคน ส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง และน่าจะเร่งฉีดให้ทุกคนต่อไป รวมทั้งกลุ่มประชากรแฝง แรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆก็จะได้รับวัคซีนต่อไปจนครบทุกคนด้วย
ธีรวัฒน์ คำธิตา/เชียงราย