Travel Sport & Soft Power

'เครือข่ายคนรักษ์อาชีวะฯ'จี้เลขาฯทบทวน ชี้มอบนโยบายผิดเวลาปฏิบัติยาก



กรุงเทพฯ-เลขาธิการฯอาชีวศึกษามอบนโยบายให้ปธ.อาชีวศึกษาจังหวัด ตามนโยบายศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการหรือCEC  ขณะที่ครอท.ห่วงนโยบายนำไปปฏิบัติยากในภาวะวิกฤตโควิด ขอให้ทบทวนใหม่

วันนี้(11 ก.ค.64)นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดประชุมมอบนโยบายให้ ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด เพื่อจัดโครงการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ หรือ CEC.ซึ่งจากที่ประชุมในวันนี้มีประเด็นต่างๆที่สถานศึกษาควรติดตามและเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.)ได้รับข้อมูลที่สร้างกังวลมามากมายจึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการในช่วงนี้และสอศ.ต้องคำนึงถึงผู้ปฎิบัติงานในสถานศึกษาด้วย โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยของครู บุคลากร นักเรียนนักศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนฝึกอบรมอาชีพในโครงการนี้ตามที่มีการมอบหมายในที่ประชุมให้ดำเนินการอบรมฯซึ่งเป็นแบบ on site  ในช่วงนี้สถานการณ์ที่โควิดกำลังแพร่ระบาดรุนแรงอยู่ เพราะอยู่ในช่วงที่ทางรัฐบาลประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และศธ.ก็มอบหมายให้ครู บุคลากรจัดการเรียนการสอนออนไลน์เท่านั้น โครงการนี้เป็นโครงการฝึกทักษะอาชีพ จะมีปัญหา มากเพราะการฝึกอบรมวิชาชีพเป็นการฝึกปฏิบัติ ไม่สามารถทำได้ในช่วงสถานการณ์โควิคนี้ สถานศึกษาอยู่ในช่วงที่ผู้บริหาร ครู บุคลากร นักเรียนนักศึกษา จัดการเรียนการสอนออนไลน์ และทำงานแบบWFHอยู่ ทั้งระยะเวลากระชั้นชิดมาก แต่สอศ.เพิ่งมาสั่งการให้เร่งดำเนินการในที่ประชุมวันนี้ยังขัดแย้งกับประกาศที่สอศ.ออกเองที่แจ้งให้สถานศึกษาถือปฎิบัติทำงานแบบon line 100% และสั่งให้สถานศึกษาปิดงบประมาณ ปี 2564 ให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้อีกด้วย 

จากที่ประชุมในวันนี้ สอศ.แจ้งว่าจะมีการจัดสรรเงินให้ในส่วนของอาชีวศึกษาจังหวัดหรือ อศจ. จังหวัดละหนึ่งแสนบาท เท่านั้น ในส่วนของสถานศึกษาให้แต่ละแห่งบูรณาการจัดหางบประมาณเอง ซึ่งในความเป็นจริงสถานศึกษาก็ไม่มีงบประมาณที่จะใช้จ่ายติดลบอยู่แล้ว เพราะว่าไม่ได้ตั้งโครงการวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ การสั่งให้สถานศึกษามาบูรณาการหางบประมาณที่มีอยู่มาจัดทำเป็นโครงการในช่วงนี้เป็นการวางแผนไม่ถูกต้องด้วย และถ้าสอศ.มีงบฯ เครือข่ายฯ เสนอแนะควรเอางบประมาณไปช่วยเหลือแก้ปัญหาเรื่องของโควิดให้กับสถานศึกษาก่อนเป็นลำดัยแรกจะดีกว่ามาทำโครงการฯในสถานการณ์นี้น่าจะเลื่อนไปก่อน ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการช่วยเหลือสถานศึกษา  เพราะว่าตั้งแต่เกิดปัญหาโควิด รอบแรกสอศ.ไม่เคยจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาแก้ปัญหาโควิดเลยแม้แต่บาทเดียว  และหากสอศ.ยังดื้อแพ่งสั่งให้สถานศึกษาเดินหน้าทำต่อ จะมาเป็นประเด็นสร้างปัญหาให้สอศ.แน่นอน และสถานศึกษาคงถูกสังคมหรือสื่อมวลชนตำหนิว่าหน่วยงานรัฐไม่เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตาม พรก.ฉุกเฉินโดยเคร่งครัด ซึ่งเรื่องนี้ฝากทางผู้บริหารระดับสูง สอศ. และรมต.ศธ.ควรพิจารณาทบทวนโครงการฯโดยด่วน ก่อนจะมีปัญหาไปมากกว่านี้ ประกอบกับระยะที่ผ่านมาเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีนโยบายในการปรับเปลี่ยนบทบาทสถานศึกษาโดยวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยการอาชีพ จัดการเรียนปวช.ปวส.และป.ตรีและวิทยาลัยสารพัดช่างบางที่ก็ให้ปรับบทบาทเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาส่วนวิทยาลัยสารพัดช่างที่เหลือที่เหลือให้มีการจัดการเรียนการสอนระยะสั้นดูแล้วมันย้อนแย้งระหว่างคำสั่งหรือนโยบายในอดีตและปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง