Travel Sport & Soft Power

สืบสานภูมิปัญญาชุมชนพลุเสียงโบราณ ฝีมือชาวดอนบมเมืองมหาสารคาม



มหาสารคาม-ภูมิปัญญาการทำพลุเสียงโบราณ  สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในงานบุญกฐิน ระทึกภาพความแรงและดังของพลุเสียงโบราณขนาดใหญ่ที่ผลิตจากไม้ไผ่ ที่ชาวบ้านดอนบม หมู่ที่ 6 ตำบลแวงน่าง  อ.เมืองมหาสารคาม ได้ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานบุญกฐินสามัคคีของหมู่บ้าน โดยพลุเสียงโบราณ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

นายวัลล อุทัยแพน รองนายก อบต.แวงน่าง กล่าวว่า พลุเสียงโบราณเป็นที่นิยมจุดในเทศกาลต่างๆ เช่น งานกฐิน งานบุญมหาชาติ โดยจุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง ในอดีตนิยมจุดในงานกฐิน เพื่อเป็นการบอกข่าวไปยังพี่น้องประชาชนทั่วไปให้ทราบ และครั้งนี้ ตนและชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำพลุเสียงโบราณความยาว 90 เซนติเมตร และใช้เชือกที่ทำจากไม้ไผ่จำนวน 3 ลำ มาเหลาและถักต่อเป็นเส้นเชือกยาว 100 เมตร ก่อนมาพันรอบกระบอกไม้ไผ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร จำนวน 3 รอบซึ่งระหว่างพันรอบยังใช้กาวที่ทำมาจากข้าวเหนียว ทาบริเวณเชือกเพื่อให้เชือกไม้ไผ่ยึดติดกันเพื่อความทนทาน จากนั้นใช้ดินปืนน้ำหนัก 3 กิโลกรัม อัดลงไปในบั้งไม้ไผ่ แล้วติดชนวนก่อนทำการจุด ซึ่งการทำในทุกขั้นตอนต้องมีความชำนาญเป็นอย่างมาก

 ปัจจุบันการทำพลุเสียงแบบโบราณเริ่มเลือนหายไป จึงได้ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์วิธีการทำพลุเสียง เอาไว้ให้ลูกหลานได้ดูและรู้จักพลุเสียงแบบโบราณ ซึ่งเป็นของคู่กันกับการทำบุญกฐิน  โดยเวลาจุดก็จะมีเสียงดังไกลนับ 10 กิโลเมตร และราคาพลุเสียง ปัจจุบันซึ่งใช้เป็นท่อเหล็ก ราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท ต่อ 1 บั้ง โดยการจุดพลุเสียงจึงเป็นสัญลักษณ์ของการทอดกฐินของชาวบ้านดอนดม แห่งนี้เป็นประจำทุกปี ...

พิเชษฐ  ยากรี /มหาสารคาม