In News
ชาวจอมบึง2ตำบล6มบ.ร้องแก้ฟาร์มหมู
ราชบุรี - ชาวบ้าน 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน ถือป้ายยื่นหนังสือย้ายปลัดอบต.และแก้ปัญหาฟาร์มหมู
เมื่อวันที่ 17 ส.ค.64 ที่ศาลากลาง จ.ราชบุรี มีชาวบ้านจาก ต.รางบัว หมู่ที่ 2, 4, 8, 10, 15 และ ต.จอมบึง หมู่ที่ 5 รวมกว่า 100 คน ได้รวมตัวถือป้ายที่มีข้อความว่า ชุมชนเราไม่เอา ฟาร์มหมู, เราไม่เอาฟาร์มหมู ฟาร์มเก่ายังไม่แก้ไข ฟาร์มใหม่จะสร้างอีก และ ฟาร์มหมู เป็ด ไก่ สร้างความหายนะให้น้ำ ดิน อากาศ เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในการยื่นหนังสือเรียกร้อง 2 เรื่อง คือ 1. ให้หยุดยันการอนุญาติให้สร้างความฟาร์มใหม่ และแก้ปัญหาฟาร์มหมู่เก่าที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำและพื้นที่สาธารณะ และ 2. ให้ย้ายปลัดอบต.รางบัว ออกนอกพื้นที่ โดยให้เวลาทางจังหวัด 7 วัน นายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ รองผวจ.ราชบุรี เป็นตัวแทน ผวจ.ราชบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ารับหนังสื่อเรียกร้อง เพื่อส่งมอบต่อให้ผวจ.ราชบุรี เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยภายหลังได้มีการพูดคุยกับกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน และได้รับปากจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดมีความพอใจ และรวมตัวเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียกต่อที่ว่าการอำเภอจอมบึง
น.ส.เตือนใจ มิอะ อายุ 44 ปี และ นายเทียนชัย เทพวาส อายุ 47 ปี ตัวแทนชาวบ้านต.รางบัว ได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาต.รางบัว รวม 5 หมู่บ้าน และ ต.จอมบึง ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาฟาร์มต่างๆ ในการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะมานานหลายปี จนปลัดอบต.รางบัว ได้เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการฟาร์มหมูได้อนุมัติให้สร้างฟาร์มหมูใหม่ ซึ่งอยู่ใจกลาง 5 หมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวคัดค้าน แต่ทางปลัดอบต. ซึ่งรักษาการนายกอบต.รางบัว กับได้ใช้อำนาจหน้าที่ ไม่เป็นธรรมก่อให้เกิดความขัดแย้ง และความแตกแยกในหมู่ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำท้องที่
โดยปลัดอบต.รางบัว ได้ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ, การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ โดยได้สั่งเป็นหนังสือให้มีการสอบถามความคิดเห็น การยื่นขออนุญาตก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในหมู่ชาวบ้าน และให้จนท.อบต.ออกลงพื้นที่สำรวจ ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ หรือคณะกรรมการหมู่บ้าน แถมได้มีการออกหนังสือ หรือบางหมู่บ้านใช้โทรหาผู้ใหญ่บ้าน ใช้สถานการณ์โควิด-19 ห้ามไม่ให้ชุมนุมกันเกิน 50 คน ในการทำประชาคมหมู่บ้านแต่ละครั้ง ซึ่งต้องทำหลายครั้งในแต่ละหมู่บ้าน ทั้งที่การอนุญาตสร้างฟาร์มไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งรีบ แต่ทางปลัดอบต.รางบัว กลับรีบเร่งเสียเอง
ทั้งใช้อำนาจให้ใช้สถานที่ราชการ และพนักงานจ้างภายในอบต. เป็นสถานที่จัดเก็บเงินกลุ่มฌาปนกิจโดยที่เกิดข้อกังขาในกลุ่มฌาปนกิจดังกล่าว โดยทางปลัดอบต.กับทีมงานอ้างว่า เข้ามากอบกู้โดยเปลี่ยนชื่อกลุ่มและเก็บเงินล่วงหน้ากับสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มเดิม รายละ 5,000 บาท หากรายใดไม่ให้ก็จะถูกตัดสิทธิ์ ซึ่งสมาชิกส่งกันมานานนับ 10 ปี เรื่องนี้ชาวบ้านส่วนมากได้รับผลกระทบอย่างมาก บางรายต้องยอมสละสิทธิ์ ก่อให้ผู้สูงอายุได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง
และผู้นำในต.รางบัว (ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต.) เกิดข้อสงสัยไม่เข้าใจในนโยบาย เรื่องแนวทางการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ จากที่เคยให้ผู้ใหญ่หรือส.อบต.ไปรับที่อบต.แทน เพื่อนำเงินไปจ่ายในแต่ละหมู่บ้าน ปัจจุบันปลัดอบต.กลับแจ้งว่า ผิดระเบียบและสุ่มเสี่ยง และมีหนังสืออ้างถึงสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนให้ผู้สูงอายุผู้พิการหรือลูกหลานที่ได้รับมอบอำนาจ เดินทางเข้าไปรับเองที่อบต. ซึ่งมันเป็นคำสั่งที่สวนทางกับเรื่องสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ปลัดอบต.ยังก่อปัญหาความขัดแย้ง และก่อให้เกิดการแตกแยกทั้งในองค์กร และในหมู่ชาวบ้าน ขณะที่ปลัดปฏิบัติหน้าที่ รักษาการนายกอบต.รางบัว ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งกับผู้บริหารถึงขั้นมีคดีความ ถูกผู้บริหารส่งตัวช่วยราชการนานถึง 6 ปี มีเรื่องดำเนินคดีกับรองนายก ผู้ใหญ่บ้าน เกิดข้อพิพาทกับกำนันต.รางบัว เรื่องการบุกรุกที่สาธารณะ เคยถูกจนท.พนักงานของอบต. ลงชื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่กับปลัดคนนี้ได้ และมีพฤติกรรมขวักไขว่ทางการเมือง จากการที่มีพฤติกรรมอยู่เบื้องหลังสนับสนุน ว่าที่ผู้สมัครนายกอบต.รายนึง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว แต่ปัจจุบันปรากฏ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ขอย้ายตัวเอง จนขนาดนี้ อบต.ขาดแคลนเจ้าหน้าที่
ขณะที่ปลัดอบต.รางบัว ยังใช้อำนาจไม่หยุดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้อำนาจหน้าที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อองค์กรและชาวบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมายาวนาน แสดงให้เห็นแล้วว่า ก่อให้เกิดการแตกแยกทั้งในองค์กรและในหมู่บ้านชาวบ้านอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาคาใจของทุกฝ่ายที่ยังหาทางออกไม่ได้ เดิมที่ชาวบ้านจะร่วมกันชุมนุมขับไล่ปลัดอบต.รางบัวรายนี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และด้วยความเคารพคำสั่งของจังหวัดและอำเภอ จึงไม่รวมตัวกันแต่ขอรวมตัวเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อผวจ.ราชบุรี เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน และลดความขัดแย้งและความแตกแยกในตำบล และลดปัญหาการบานปลายในอนาคต
ขณะที่ นายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ รอง ผวจ.ราชบุรี ได้กล่าวกับตัวแทนชาวบ้านว่า จากปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ต.รางบัว และต.จอมบึง จะรับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว ส่งต่อให้ทางผวจ.ราชบุรี เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน โดยทางชาวบ้านได้ให้เวลา 7 วัน ให้ทางจังหวัดดำเนินการแก้ไข 2 เรื่อง คือให้หยุดยันการอนุญาติให้สร้างฟาร์มใหม่ และแก้ปัญหาฟาร์มหมู่เก่าที่ลักลอบปล่อยน้ำเสีย จนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และให้ย้ายปลัดอบต.รางบัว ออกนอกพื้นที่ ซึ่งทางจังหวัดจะเร่งดำเนินการตรวจสอบและรีบเร่งแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านเป็นการเร่งด่วนต่อไป.
สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี