In News
สทนช.เล็งพัฒนาน้ำสงคราม'ไม่ท่วม-ไม่แล้ง'
สทนช.แจงความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมบรรเทา ท่วม-แล้งลุ่มน้ำสงคราม ก่อนนำไปเป็นกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสงครามที่ประเมินผลกระทบรอบด้าน เน้นย้ำไม่กระทบวิถีชีวิตท้องถิ่นคงระบบนิเวศน์และการประมง
วันนี้ (3 ก.ย. 63 ) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม ในพื้นที่จังหวัดนครพนม – สกลนคร โดยที่ศาลาริมน้ำ หมู่ที่ 8 บ้านท่าก้อน ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ได้พบปะผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำพร้อมรับฟังปัญหาการมีส่วนได้/ส่วนเสียของโครงการ ก่อนเยี่ยมชมพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามซึ่งเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร แหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำที่สำคัญในพื้นที่ด้วย
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งเป็น 1 ใน 37 ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่ใน 5 จังหวัด คือ จังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม โดยพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามมักประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี ดังนั้น หนึ่งในแนวทางในการศึกษาความเหมาะสมในการสร้างประตูระบายน้ำกลางแม่น้ำสงคราม ที่ ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำหน่วย จ.สกลนคร เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ในระยะทางไกลถึง 150 กิโลเมตร ความจุน้ำ 74 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรมากถึง 4 แสนไร่
โดยในฤดูแล้ง จะปิดบานระบายน้ำทุกบานเพื่อยกระดับน้ำและเก็บกักน้ำในลำน้ำหน้าประตูระบายน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม การประมง และการใช้น้ำอื่นๆ ขณะที่ในฤดูฝน ช่วงน้ำหลาก จะเปิดบานระบายน้ำพ้นน้ำโดยให้มีการระบายน้ำในแม่น้ำสงครามผ่านบริเวณหัวงาน ปตร. ไหลลงสู่แม่น้ำโขง สภาพใกล้เคียงเหมือนก่อนมีประตูระบายน้ำให้มากที่สุด สำหรับช่วงอื่นๆ ควบคุมบานระบายน้ำ เพื่อยกระดับน้ำและรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมในกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ ในกรณีที่สภาพอุทกวิทยาของน้ำท่าในแม่น้ำโขง และในลุ่มน้ำสงครามเกิดวิกฤต เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวน หรือต่ำลงหรือแห้งขอด หรือเกิดภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงในลุ่มน้ำสงคราม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาลุ่มน้ำสงครามต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และการฟื้นฟู ที่ต้องบูรณาการเพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์ในภาค เศรษฐกิจ - สังคม–สิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางการศึกษาข้างต้นจะนำไปสู่การขับเคลื่อนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำสงครามโดยเร็วต่อไป.