Travel Sport & Soft Power
ศูนย์วิจัย-พัฒนาฯสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม ตั้งธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำมีส่วนร่วม
มหาสารคาม-ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม ดำเนินการโครงการธนาคารสินค้าเกษตร กิจกรรมสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม
วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่แหล่งน้ำหนองโน บ้านนาทอง ต.นาทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม นายพงศ์เทพ จันทรชิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม พร้อมนายณัฐวุฒิ โสนโชติ นักวิชาการประมง ประมงอำเภอเชียงยืน และเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม ออกติดตามงานโครงการธนาคารสินค้าเกษตร (กิจกรรมสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม) ประจำปีงบประมาณ 2564 พร้อมให้ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปลานิลและปลาตะเพียนและสนับสนุนพันธุ์ปลาเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการแหล่งน้ำ พร้อมฝึกปฎิบัติการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียน ครั้งที่ 2 โดยใช้ชุดเพาะฟักเคลื่อนที่โซลาเซลล์(Mobile hatchery Sola cell) เป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ เพื่อเตรียมอนุบาลและจำหน่ายเป็นรายได้ของธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแหล่งน้ำหนองโนต่อไป
นายพงศ์เทพ จันทรชิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคามกล่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการบริหารจัดการผลผลิตการเกษตร เพื่อให้ชุมชนเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนองต่อ_ความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้ในครัวเรือน จึงมีนโยบายให้ดำเนินโครงการธนาคารสินค้าเกษตร เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารผลผลิตด้านการเกษตร ดังนั้น เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงฯ ดังกล่าว กรมประมงจึงได้ดำเนินงานโครงการธนาคารสินค้าเกษตร กิจกรรมสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการผ่านระบบธนาคารผลผลิตการเกษตร เพื่อให้ชุมชนเกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตสัตว์น้ำ แลก เปลี่ยน ยืมคืน ผลผลิตจากสัตว์น้ำหรือรายได้ที่เกิดจากโครงการ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การดำเนินงานโครงการธนาคารสินค้าเกษตร (กิจกรรมสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม) ดำเนินการโดยอาศัยแหล่งน้ำชุมชนเป็นศูนย์กลาง ในการบริหารจัดการ โดยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย เน้นการให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือการปล่อยเลี้ยงในแหล่งน้ำชุมชนเป้าหมายโครงการฯ โดยคณะกรรมการแหล่งน้ำชุมชนที่ตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์น้ำของชุมชน ให้มีเพียงพอต่อบริโภค และสร้างรายได้ เพื่อความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนและการดำรงชีวิตของราษฎรดีขึ้น อยู่ดีกินดี ชุมชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สำหรับในปีงบประมาณ 2564 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม มีเป้าหมายดำเนินการโครงการฯ แหล่งน้ำหนองโน บ้านนาทอง หมู่ที่ 3, 9 บ้านาทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม พื้นที่ 29 ไร่ โดยกิจกรรมที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม ได้ดำเนินการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำปล่อยในแหล่งน้ำดังกล่าว จำนวน 280,100 ตัว ได้แก่ พันธุ์ปลานิล ไน ตะเพียนขาว บึก สวาย จำนวน 80,100 ตัว และพันธุ์กุ้งก้ามกราม จำนวน 200,000 ตัว เพื่อให้คณะกรรมการแหล่งน้ำเลี้ยงเพื่อใช้เป็นพ่อ แม่ พันธุ์ และเพาะขยายพันธุ์ต่อไป นอกจากนั้นได้ให้ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนโดยใช้ชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ หรือ Mobile Hatchery ติดตั้งรถเทรลเลอร์ลากจูงระบบไฟโซล่าเซลล์ และจะติดตามการเจริญเติบโตพันธุ์สัตว์น้ำหลังปล่อย พร้อมประเมินผลผลิตสัตว์น้ำ และมูลค่าสัตว์น้ำที่จับใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอีกด้วย
พิเชษฐ ยากรี - มหาสารคาม