Travel Sport & Soft Power
กาฬสินธุ์ผุดแหล่งน้ำใต้ดินด้วยโซล่าเซล ชุบชีวิตเกษตรกรสู้ภัยโควิด
กาฬสินธุ์-จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ ผุดแหล่งน้ำใต้ดินพลังงานแสงอาทิตย์ 106 แห่ง ตามโครงการเพิ่มปริมาณเก็บกักระบบน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง และโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต โดยขุดเจาะบาดาลและระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างงาน สร้างรายได้เกษตรกรสู้ภัยโควิด-19
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ศูนย์เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติกาสินธุ์ เลขที่ 109 หมู่ที่ 10 บ้านหัวแฮด ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ และคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณเก็บกักระบบน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยมีนายเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์ เจ้าของศูนย์เครือข่ายฯ และเกษตรกรผู้ใช้น้ำต้อนรับ พร้อมรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการ ซึ่งกิจกรรมในแปลงเกษตรประกอบด้วยทำนา อนุรักษ์ดินและน้ำ พร้อมปลูกพืชหลากหลาย และแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์เป็นหลัก
จากนั้น นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ และคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต กิจกรรมย่อยขุดเจาะบาดาลและระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ของนางไพฑูรย์ พละสาร และสมาชิกเกษตรกรบ้านตูม หมู่ 2 ต.เหล่ากลาง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการปลูกพืชผักสวนครัวแบบผสมผสาน
นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณเก็บกักระบบน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง และโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต กิจกรรมย่อยขุดเจาะบาดาลและระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว จัดขึ้นตามความต้องการของเกษตรกรและสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ ถือเป็นโครงการขนาดเล็ก แต่สามารถต่อยอดและตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้ ทั้งนี้ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ ฝ่ายปกครองทุกอำเภอ สำนักงานเกษตร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรที่สมัครใจเจ้าร่วมโครงการ โดยในปีงบประมาณ 2564 มีเกษตรกรทั้ง 18 อำเภอ สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก แต่ในปีงบประมาณนี้ดำเนินการเพียง 106 แห่ง ตามงบประมาณที่มีจำกัด
นายอัครพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนในการจัดสรรงบประมาณในปีนี้ ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ร่วมโครงการ ซึ่งคงจะต้องรอในปีงบประมาณถัดไป สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ก็สามารถยื่นความประสงค์ที่ได้สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ หรือที่ทำการปกครองอำเภอทุกอำเภอ เกษตรอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการการคัดเลือกในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ บ่อบาดาลแต่ละจุดซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้น เป็นการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาสำรองใช้ในฤดูแล้ง หรือทดแทนน้ำฝนในภาวะฝนทิ้งช่วง หล่อเลี้ยงพืชผลในแปลงเกษตร โดยแต่ละบ่อสามารถกระจายน้ำผ่านระบบท่อไปให้กับพื้นที่เกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียงบ่อละ 5 ราย ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 รายจะต้องมีพื้นที่ติดต่อกันและบริหารจัดการใช้น้ำกันเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ จากการติดตามผล ทราบว่าเกษตรกรพึงพอใจ ได้ประโยชน์จากโครงการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ได้ผลผลิตจำหน่ายในชุมชน รองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
ด้านนางไพฑูรย์ พละสาร อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 2 บ้านตูม ต.เหล่ากลาง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมตนและเพื่อนเกษตรกรทำนาเป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ยังปลูกพืชสวน และผักสวนครัวนานาชนิด เช่น ฝรั่ง กล้วย มะม่วง มะละกอ มะเขือ และผักสวนครัวนานาชนิด โดยที่ผ่านมาอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก บางปีประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลผลิตตกต่ำ และเสียโอกาสสร้างรายได้ พอทราบว่าทางจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการดังกล่าว จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรพื้นที่ข้างเคียงอีก 4 ราย เข้าร่วมโครงการ
นางไพฑูรย์กล่าวอีกว่า ตนและเพื่อนเกษตรกรที่ร่วมโครงการ มั่นใจว่าต่อไปนี้พื้นที่ทำนาและทำการเกษตรของตนจะไม่ขาดแคลนน้ำ โดยจะมีน้ำใต้ดินที่สูบดัวยพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาหล่อเลี้ยงพืชผลได้ตลอดปี โครงการนี้จึงไม่ต่างกับชุบชีวิตเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้ โดยเฉพาะในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ทั้งนี้ต้อของขอบคุณท่านผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่นำโครงการดีๆลงสู่ชุมชน เพื่อที่จะได้มีอาชีพ ได้ผลผลิตรับประทานในครัวเรือน และจำหน่ายสร้างรายได้อย่างยั่งยืน