In News

กทม.ยันฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่า80% เดินหน้าจัดรถBMVรุกฉีดวัคซีนถึงบ้าน



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯกทม.เปิดตัวรถ"รถฉีดวัคซีนถึงบ้าน"(BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) สัปดาห์หน้ายอดคนกรุงฉีดวัคซีนล่าสุดกว่า 80%แล้ว ด้านโฆษกกทม.แถลงเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อเตรียมผ่อนคลายมาตรการต่างๆ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงภาพรวมการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จำนวน 3,000-4,000 ราย ต่อวัน ซึ่งลดน้อยลงและคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะลดลงอย่างช้าๆ เนื่องจากมาตรการการควบคุมปัจจัยการระบาดของโรคที่เข้มข้น การให้บริการวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งการตรวจเชิงรุกในชุมชนด้วยชุดตรวจ ATK สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ค้นหาผู้ป่วยนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที

สำหรับการดูแลผู้ป่วยในขณะนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation (CI) เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่สามารถทำการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต รวมทั้งสิ้น 70 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 9,664 เตียง เปิดรับผู้ป่วยแล้ว 64 แห่ง  โดยแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ มีการคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน รวมทั้ง ได้ร่วมกับเครือข่ายผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน จัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation) จำนวน 57 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 1,427 เตียง เพื่อให้ชุมชนที่เข้มแข็งสามารถดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นคนในชุมชนเดียวกันเองได้

อัพเดทตัวเลขยอดฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานครล่าสุด กรุงเทพมหานครกำหนดเป้าหมายประชากรในพื้นที่ ประมาณ 7.7 ล้านคน ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีน Covid-19 เข็มที่ 1 สะสมจำนวน 6,717,824 ราย (คิดเป็นร้อยละ 80) เข็มที่ 2 สะสมจำนวน 1,591,453 ราย (คิดเป็นร้อยละ 20)

สำหรับการให้บริการวัคซีนผ่านโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย” เข็มที่ 1 สำหรับประชาชน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60ปีขึ้นไปที่ลงทะเบียนนัดหมายผ่านทางโทรศัพท์  หญิงตั้งครรภ์ซึ่งสามารถ walk-in ได้ที่ศูนย์ฉีด 12 แห่ง ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 27 ส.ค. และผู้ที่มีอายุ 18-59 ปี ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านโครงการไทยร่วมใจฯ คิวเดิมวันที่ 21-25 ส.ค.64 สามารถรับวัคซีนได้วันที่ 26 ส.ค.64 และคิวเดิม 26-31 ส.ค. สามารถรับวัคซีนได้วันที่ 27 ส.ค.64 โดยสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ในเวลาเดิม

ในส่วนของการให้บริการวัคซีนเข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านโครงการไทยร่วมใจฯ ซึ่งได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 7-25 มิ.ย.64 สามารถมารับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ ดังนี้ เข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย. รับวัคซีนเข็มที่ 2 วันที่ 30 ส.ค. เข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. รับวัคซีนเข็มที่ 2 วันที่ 31 ส.ค. เข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย. รับวัคซีนเข็มที่ 2 วันที่ 1 ก.ย. เข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. รับวัคซีนเข็มที่ 2 วันที่ 2 ก.ย. เข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย. รับวัคซีนเข็มที่ 2 วันที่ 3 ก.ย. และเข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย. รับวัคซีนเข็มที่ 2 วันที่ 4 ก.ย.ให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกด้วย"รถฉีดวัคซีนถึงบ้าน" 

กรุงเทพมหานครเตรียมเปิดให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุก ด้วยรถวัคซีนถึงบ้าน BKK Mobile Vaccination Unit : BMV เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทุกพื้นที่เขต ลดการเดินทาง และความเสี่ยงจากการใช้บริการรถสาธารณะ คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในสัปดาห์หน้านี้

รถฉีดวัคซีนถึงบ้าน  (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) จะเป็นการดัดแปลงรถโดยสาร นำร่อง 1 คัน โดยเป็นการสนับสนุนจากเครือข่ายภาคเอกชน และไม่ใช้งบประมาณทางราชการแต่อย่างใด มีทีมแพทย์ พยาบาล ให้บริการเชิงรุกถึงชุมชน หรือจุดที่อยู่ใกล้ชุมชนมากที่สุด ซึ่งจะใช้ทีมแพทย์พยาบาลในจำนวนที่น้อยกว่าทีม Bangkok CCRT แต่จะยังคงประสิทธิภาพการให้บริการที่มีมาตรฐานโดยภายในรถจะติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดอุณหภูมิ ตู้เย็นสำหรับเก็บรักษาวัคซีน อุปกรณ์ปฐมพยาบาล เตียงสนาม และเครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED)  เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกับมาตรฐานในโรงพยาบาล

กทม.เผย เร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อเตรียมผ่อนคลายมาตรการ

การแถลงข่าวของกทม.ถึงคืบคืบหน้าในการดำเนินการการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยมีร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ร.ต.อ.พงศกร แถลงว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง อันเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น การเร่งตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) และการมีระบบรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งสามารถตัดวงจรการติดเชื้อได้มากขึ้น ทำให้ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ค่อยๆ ลดลงอย่างแบบค่อยเป็นคอยไป ทั้งนี้ปัจจุบัน ประชาชนเริ่มมีความเข้าใจในหลักการของการทำโฮม ไอโซเลชั่น และการเข้าระบบคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (HI/CI) มากขึ้น และเข้าถึงระบบการรักษารวดเร็วขึ้นด้วย

“ดังนั้นในส่วนของการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ล่าสุด ศปก.ศบค.มีการหารือในภาพรวมทั่วประเทศ และเตรียมเสนอต่อที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ จึงมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ นั้น จะต้องพิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.จำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้อัตราเริ่มคงที่ ตัวเลขอยู่ประมาณ 4,000 รายต่อวัน และ 2.การฉีดวัคซีน ที่เริ่มฉีดได้เพิ่มขึ้น และมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกมากขึ้น ซึ่งในอนาคตหากมีประชาชนได้รับวัคซีนไปตามเป้าหมาย อาจจะทำแบบในต่างประเทศ ที่จะมีการกำหนดเป็นวันฟรีดอม เดย์ ก็เป็นไปได้”

โฆษก กทม.กล่าวถึงการได้รับจัดสรรวัคซีนว่า เบื้องต้นในเดือนกันยายน ประชาชนกรุงเทพฯ จะมีการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า และได้รับแจ้งจาก ศบค.ว่า ถ้าประเทศไทยมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีก จะมีการส่งมอบให้ กทม.เพิ่มอีก แต่ขณะนี้ในเบื้องต้นจะขอส่งไปให้จังหวัดปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ฯลฯ และต่างจังหวัดที่ยังได้วัคซีนจำนวนน้อยไปก่อน

ด้าน นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกนั้น ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างดำเนินการสั่งจองซื้อวัคซีนโมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม แต่ยังไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว โดยในระหว่าง กทม.จะดำเนินการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้ไปก่อน เมื่อวัคซีนทางเลือกมาถึง ก็จะมีการเพิ่มศักยภาพการฉีดได้มากขึ้น