In News

สนง.ศาลยุติธรรมจับมือสภาทนายความ ส่งเสริมการระงับข้อพิพาททางเลือก



กรุงเทพฯ-วันนี้ (27 สิงหาคม 2564) เวลา 13.30 น. ณ สำนักงานศาลยุติธรรม นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และส่งเสริมการระงับข้อพิพาททางเลือก ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ผ่านระบบ ZOOM

นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมมีภารกิจเกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม เพื่อสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมแก่คู่ความและประชาชนให้เป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัด เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีภารกิจด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก ด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างครบวงจร ตั้งแต่ก่อนการฟ้องคดีและระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

ซึ่งสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการให้บริการประชาชน สนับสนุน และส่งเสริมกลไกการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล เช่นเดียวกับสำนักงานศาลยุติธรรมทั้งสองหน่วยงานจึงได้ร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท โดยการศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านกฎหมาย การจัดอบรมทนายความเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาโตตุลาการ การใช้งานระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์(e – Filing system) และระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) การส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การอนุญาโตตุลาการ การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล การสนับสนุนและพัฒนาแนวทางการใช้ระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์และวิธีพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสะดวก มีประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ให้กระทบต่อความยุติธรรม รวมถึงการร่วมกันดำเนินการพิสูจน์ยืนยันตัวตนของทนายความที่ประสงค์ใช้ระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานศาลยุติธรรม

ตลอดจนความร่วมมือในการจัดหลักสูตรอบรมทนายความเพื่อทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ ประกอบกับช่วงเวลานี้ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเชื้อไวรัสโควิด 19 รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบต่อการเดินทางและการดำเนินคดีของคู่ความ ทนายความ และประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการอำนวยความยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการพิจารณาคดีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) และระบบห้องพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Court room) เป็นต้น

ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งคู่ความและทนายความ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทนายความ คู่ความ และประชาชนได้เข้าใจ และเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทที่เหมาะสมกับข้อพิพาทของตน การใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบของสำนักงานศาลยุติธรรมในการดำเนินคดีรูปแบบใหม่ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังคงรักษามาตรฐานความยุติธรรมตลอดจนสามารถปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนพิจารณาคดีได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ อันเป็นการสร้างกลไกการดำเนินกระบวนพิจารณาและการพิพากษาคดีที่ทันสมัยตามนโยบายของท่านประธานศาลฎีกา

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ในนามของสำนักงานศาลยุติธรรมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ และคณะผู้แทนสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ได้ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมกันส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การอนุญาโตตุลาการ รวมถึงการระงับข้อพิพาททางเลือกอื่น ตลอดจนความร่วมมือตามความตกลงทุกๆด้าน ให้เกิดประสิทธิผลและประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป