In News
กทม.ร่วมภาคเอกชนแถลงผล'ไทยร่วมใจ' เผยฉีดวัคซีนเข็มแล้วกว่า9ล้านคน
กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯกทม.ร่วมภาคเอกชนแถลงผลดำเนินการโครงการไทยร่วมใจ พร้อมเร่งสำรวจจำนวนวัคซีน ก่อนเปิดจองโครงการ “ไทยร่วมใจฯ” ระยะต่อไป
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นางจินดารัตน์ ชโยธิน ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกของกรุงเทพมหานคร และร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวผลการดำเนินงานวัคซีนไทยร่วมใจฯ และการให้บริการวัคซีนในระยะต่อไป ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ผ่านระบบ Cisco Webex Meeting
ภาพรวมการให้บริการวัคซีนของกรุงเทพมหานคร
การให้บริการวัคซีนโควิดของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 ก.ย.64 จากเป้าหมาย 7,699,174 คน โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 7,059,354 คน (คิดเป็นร้อยละ 91.69) ครบ 2 เข็ม จำนวน 1,888,7779 คน (คิดเป็นร้อยละ 24.53) โดยกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีน ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (รับวัคซีนครบแล้ว) กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 97.40 และเข็ม 2 ร้อยละ 11.86) กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7กลุ่มโรค (รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 77.60 และเข็ม 2 ร้อยละ 11.98) กลุ่มเจ้าหน้าที่บุคลากรด่านหน้า (รับวัคซีนเข็มครบแล้ว) กลุ่มประชาชนทั่วไป (รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 92.04 และเข็ม 2 ร้อยละ 25.59) และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ (รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 29.75 และเข็ม 2 ร้อยละ 1.52)
โครงการ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย"
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ขยายวงกว้างและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งดำเนินการให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงและในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หอการค้าไทย โรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน หรือ “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลไว้ จำนวน 25 จุด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับหอการค้าไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จัดทำโครงการ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย Safe Bangkok " เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล โดยพัฒนาระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" เพื่อรับลงทะเบียนจองสิทธิ์ฉีดวัคซีนฯ ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อกระจายวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้อย่างทั่วถึง
ผลการดำเนินงาน ระบบ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย Safe Bangkok"
ที่ผ่านมา การให้วัคซีนผ่านโครงการไทยร่วมใจฯ เป็นการให้บริการผ่าน“หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” ทั้ง 25 แห่ง โดยมีความพร้อมในการให้บริการแต่ละศูนย์ฉีด ได้วันละ 50,000 โดส และ สามารถฉีดได้สูงสุดถึงวันละ 71,789 โดส ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้บริการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็ม 1 และเข็ม 2 รวมทั้งสิ้น 1,479,589 โดส และตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. - 21 ส.ค. 64 ให้บริการเฉพาะการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็ม 1 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,361,511 โดส แบ่งเป็น 1. ผู้ที่มีอายุ 18 - 59 ปี จำนวน 1,045,219 โดส และ2. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 316,292 โดส โดยฉีดได้สูงสุดในวันที่ 27 ส.ค. ฉีดได้ 71,789 โดส ในส่วนของการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็ม 2 ให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. - 1 ก.ย.64 รวมทั้งสิ้น 79,567 โดส ซึ่งตามกำหนดจะฉีดถึงวันที่ 20 พ.ย. 64
นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าไทยและกรุงเทพมหานคร ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรที่เข้ามาช่วยสนับสนุนให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดี ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ธนาคาร และสถานศึกษา ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่และอาสาสมัครมาช่วยงาน โรงพยาบาลทั้ง 19 โรงพยาบาล ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยสนับสนุนการฉีดวัคซีน และการให้คำแนะนำที่ถูกต้องในเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน หน่วยงานที่ดูแลระบบไทยร่วมใจและรับลงทะเบียนทั้งธนาคารกรุงไทย ไอบีเอ็ม และร้านสะดวกซื้อ และเครือข่ายมือถือที่ให้บริการ Call Center ทั้ง TRUE AIS DTAC ขณะนี้ทั้ง 25 หน่วยฯ อยู่ระหว่างการให้บริการวัคซีน เข็มที่ 2 แก่ประชาชน
นางปฐมา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป้าหมายและความจำเป็นเร่งด่วนคือการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพอย่างปลอดภัยที่สุด และที่สำคัญให้ประชาชนได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด ให้ประเทศและธุรกิจกลับมาดำเนินได้ตามปกติอีกครั้ง ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ไอบีเอ็ม ในฐานะที่ดูแลเรื่อง IT Operations ได้ทำงานร่วมกับทีมจากธนาคารกรุงไทยที่ทำระบบการจองวัคซีนและระบบบริหารจัดการ รวมถึงจิตอาสาตัวแทนจากทุกองค์กรที่มีความสามารถหลากหลาย เข้ามาทำหน้าที่ช่วยบริหารจัดการศูนย์ฉีดทั้ง 25 แห่งให้ออกมาดีที่สุด มีการเว้นระยะห่างที่เหมาะสม และประชาชนได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็วที่สุด จนทำให้โครงการไทยร่วมใจสามารถจัดฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างราบรื่น สำหรับประชาชนที่ได้รับนัดหมายฉีดวัคซีน เข็ม 2 แต่ไม่สะดวกในวันที่นัดหมาย สามารถเดินทางมารับวัคซีนได้จนถึงวันที่ 4 ก.ย.นี้ ณ หน่วยฉีดซึ่งได้จองคิวไว้ในระบบ
นายผยง กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยได้พัฒนาระบบลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.comประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภาครัฐ และพัฒนาระบบลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สำหรับประชาชนที่เคยเข้าร่วมโครงการภาครัฐมาแล้ว ซึ่งสะดวก รวดเร็ว เพราะมีข้อมูลอยู่ในระบบแล้ว จึงไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวเพิ่ม ซึ่งโครงการไทยร่วมใจฯ นับเป็นโครงการตัวอย่าง ที่ภาครัฐได้ต่อยอดจากการนำเทคโนโลยี และดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในการจัดทำโครงการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งเป็น Open platform เปิดให้ทุกคนมาใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีกรุงไทย ทำให้การลงทะเบียนโครงการไทยร่วมใจฯ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ภาครัฐใช้ประโยชน์จากข้อมูลการลงทะเบียน สำหรับการจัดทำโครงการอื่นๆ ในอนาคต
กทม.พร้อมให้บริการวัคซีนโควิด-19 ผ่านโครงการ “ไทยร่วมใจฯ” ต่อเนื่อง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยบริการฉีดวัคซีนไทยร่วมใจอยู่ระหว่างการบริการวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 แก่ประชาชน จนถึงวันที่ 4 ก.ย.64 เมื่อให้บริการจนครบแล้วจะสำรวจจำนวนวัคซีนอีกครั้ง ซึ่งหากมีวัคซีนเหลือเพียงพอจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนผ่านโครงการไทยร่วมใจฯ ในระยะต่อไปทันที รวมทั้ง 25 หน่วยฉีด ยังคงพร้อมร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการให้บริการวัคซีนกับประชาชนต่อเนื่องเช่นกัน