In News

'พีดับเบิ้ลยูซี'ก้าวสู่ลดคาร์บอนฯเป็นศูนย์ หนุนธุรกิจยกระดับการทำงานอย่างยั่งยืน



กรุงเทพ, 28 ตุลาคม 2563 - PwC ประเทศไทย ประกาศเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรที่มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ขานรับปณิธานของเครือข่าย PwC ทั่วโลกที่ต้องการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทานให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573พร้อมหนุนภาคธุรกิจไทยยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้จริงหวังช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า PwC ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas (GHG) emissions) สุทธิเป็นศูนย์ในอีก 10 ปีข้างหน้าโดยจะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide: CO2) จากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทานรวมทั้งลดการใช้พลังงานและกระดาษภายในสถานประกอบการ มีการดำเนินนโยบายจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการจากผู้ส่งมอบสีเขียว(Green Supplier) รวมถึงลงทุนนำเครื่องกำจัดเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์เข้ามาใช้ภายในองค์กร
เพื่อลดปัญหาขยะและแปรสภาพของเสียก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เป็นต้น

“วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่โลกกำลังเผชิญเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลกที่สามารถช่วยให้ปัญหานี้เบาบางลงได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายในองค์กรสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมในเรื่องผลกระทบที่เกิดจากการผลิตและการบริโภคก่อนที่จะสายเกินแก้ ซึ่งในเรื่องนี้ PwCประเทศไทยมีเป้าหมายที่ชัดเจนสอดรับกับปณิธานของเครือข่าย PwC ทั่วโลก ที่ต้องการลดการปล่อยของเสีย2สร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ
รวมถึงให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ลูกค้าที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573” นาย ชาญชัย กล่าว

นอกจากนี้ PwC ประเทศไทย ยังสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยกระดับมาตรฐานการจัดทำรายงานความยั่งยืนให้มากขึ้นโดยต้องกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม มีกรอบแนวคิด และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการของ ESG (Environmental, Social and Governance: ESG)

“ผมเชื่อว่า เมื่อทุกภาคส่วนมีการวางแผนงานภายใต้หลัก ESG ที่ชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงก็จะยิ่งทำให้นักลงทุนและสาธารณชนเห็นว่า ธุรกิจไทยสามารถสร้างคุณค่าที่เป็นมากกว่าผลกำไร ให้เกิดขึ้นกับทั้งองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ได้ ซึ่งนี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของบ้านเราเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว” นาย ชาญชัย กล่าว