In News
ธกส.เดินหน้าปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ เน้นปลูกป่าเพื่อการท่องเที่ยวและสุขภาพ
นครราชสีมา-ธ.ก.ส.เดินหน้าโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระพันปีหลวงปี 5 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากป่า เน้นป่าเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวและสันทนาการ
ที่แปลงปลูกป่าองค์การบริหารส่วนตำบลสำพะเนียง หมู่ที่ 7 ตำบลสำพะเนียง อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา นายสุชาติ ดือเร๊ะ นายอำเภอโนนแดง เป็นปรานพิธีเปิดโครงการ ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง โดยมีนายสมชาย คมพงษ์ประภา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายเกษม วงศ์มา รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ผู้บริหารและทีมงานสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา และสาขาโนนแดง และนายสุทธินันท์ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา พร้อมประชาชนเข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
นายสุทธินันท์ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โครงการ ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระยศในขณะนั้น เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่ทั้งหมด 1,200 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลสำพะเนียง หมู่ที่ 7 ตำบลสำพะเนียง อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคาร โดยโครงการได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ปี 2554 ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ 184 ไร่ คิดเป็นต้นไม้จำนวน 36,800 ต้น การดำเนินโครงการในระยะที่ 1 มุ่งหวังเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและเป็นแหล่งอาหาร รวมถึงไม้ใช้สอยให้กับชุมชน สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ระยะที่ 2 ปี 2555 ปลูกต้นไม้ทั้งสิ้น 1,100 ต้น โดยปลูกซ่อมแซมในพื้นที่เดิมที่ต้นไม้ไม่เติบโต และขยายพื้นที่ป่าเป็นเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ระยะที่ 3 ปี 2556 ดำเนินการ 2 กิจกรรมคือ กิจกรรม การมอบพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติทนต่อดินเค็มจำนวน 26,000 ต้น พื้นที่ 130 ไร่ และการก่อสร้างลานกีฬาเอนกประสงค์ เรือนเพาะชำกล้าไม้ และศาลาอเนกประสงค์ ระยะที่ 4 ปี 2562 ปลูกต้นไม้ซ่อมแซมพื้นที่ป่าเดิมจำนวน 1,000 ต้น
และระยะที่ 5 ปี 2563 ได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการโดยเน้นเรื่องป่าเพื่อการสันทนาการ ป่าเพื่อสุขภาพ เพื่อการเรียนรู้ การท่องเที่ยว และการอนุรักษ์พืชพันธ์ท้องถิ่น เพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน โดยได้ปลูกพืชประเภทมะม่วงพื้นถิ่น มะขามเทศ มะขามเปรี้ยว ฯลฯ ในพื้นที่ 5 ไร่ สำหรับเป็นอาหารคน อาหารนก เพื่อสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในป่าแห่งนี้
กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ/ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจ.นครราชสีมา