In News
กทม.โชว์รถโมบายBMVฉีดวัคซีนเชิงรุก เน้นผู้สูงอายุ-ป่วย7โรค-ผู้พิการ
กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯกทม.จัดบริการใหม่ รถฉีดวัคซีนถึงบ้าน BMV เป้าหมายระยะแรก ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค-ผู้พิการ ขณะที่สำนักอนามัยเตรียมทำรถBMVของกทม.อีก 7 คัน
(8 ก.ย.64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่กรุงเทพมหานคร (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย สำนักงานเขตบางพลัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ วัดเทพนารี เขตบางพลัด
กรุงเทพมหานคร ได้เร่งขับเคลื่อนมาตรการป้องกันโรคเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและการลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมานอกจากการเร่งจัดหาสถานที่รักษาพยาบาลให้แก่ประชาชน ด้วยการจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ และให้การดูแลประชาชนที่ทำการแยกกักตัวที่บ้าน การจัดทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนแล้ว กรุงเทพมหานครยังให้ความสำคัญกับการบริการวัคซีนให้แก่ประชาชนให้เร็วที่สุดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดและให้เกิดความรุนแรงของโรคน้อยที่สุด ซึ่งกรุงเทพมหานครนำวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรฉีดเชิงรุกในสถานที่เสี่ยง ชุมชน ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกคนอย่างทั่วถึง
สำหรับหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่กรุงเทพมหานคร (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV)เป็นอีกหนึ่งนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มช่องทางในการให้บริการวัคซีนเชิงรุกแก่ประชาชน โดยมีหลักการ คือ 1.เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว สามารถเดินทางไปได้หลายแห่ง เข้าถึงประชาชนหลายกลุ่ม หลายชุมชน 2.ลดการเดินทางของประชาชน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ สะดวกสบายมากขึ้น 3.ทุกขั้นตอนจบในรถคันเดียว ตั้งแต่การตรวจสอบประวัติ การฉีดวัคซีน และการออกใบนัด โดยจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถให้บริการวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายได้ครบถ้วน ซึ่งในระยะแรกได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้บริการ คือ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ผู้พิการ และผู้ที่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก โดยศูนย์บริการสาธารสุขร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่จะสำรวจผู้ที่มีคุณสมบัติ และประสานหน่วย BMV เพื่อจัดคิวให้บริการในชุมชน และในอนาคตจะขยายให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป
ขั้นตอนการให้บริการ ประกอบด้วย ก่อนรับบริการ ผู้เข้ารับบริการต้องผ่านการคัดกรองเบื้องต้นและลงนามยินยอมรับบริการวัคซีน จากนั้นจะต้องดำเนินการยืนยันตัวตน ด้วยการเสียบบัตรประจำตัวประชาชนบริเวณทางขึ้นรถ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากจอแสดงบนผลด้านบนรถ และให้ประชาชนขึ้นรับการฉีดวัคซีน พักรอสังเกตอาการ 30 นาทีบริเวณด้านล่างพร้อมรับใบนัดเข็ม 2
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพจหมอแล็บแพนด้า ให้บริการรถบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนรถบัส NGV จาก บริษัทสมาร์ทพลัส และคุณจิรวัฒน์ จังหวัด จากเพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยได้ร่วมให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบรถให้เหมาะสมกับการให้บริการ และสามารถให้บริการได้เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยในวันนี้เป็นการทดลองระบบ และพรุ่งนี้หยุดให้บริการ 1 วันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ประเมินผลการทำงานทั้งระบบ จากนั้นจะให้บริการอีกครั้งในวันที่ 10 ก.ย. 64 นอกจากนี้กรุงเทพมหานครจะขยายการให้บริการโดยปรับรูปแบบรถบริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ของสำนักอนามัยให้สามารถเป็นรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ได้ ซึ่งจะพร้อมให้บริการในเร็วๆ นี้เช่นกัน
ภาพรวมการให้บริการวัคซีนกทม.
สำหรับ ข้อมูลการฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร บริการวัคซีนให้ประชาชนไปแล้ว 9,872,041 โดส มีผู้ที่ได้รับเข็มที่ 1 แล้ว จำนวน 7,240,270 ราย ผู้ที่ได้รับเข็มที่ 2 แล้ว จำนวน 2,454,064 ราย และมีบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว จำนวน 177,707 ราย ทั้งนี้หากแบ่งกลุ่มผู้รับวัคซีนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รับวัคซีนแล้ว จำนวน 601,775 โดส ผู้ที่มีอายุ 60 ขึ้นไป จำนวน 1,219,736 โดส เจ้าหน้าที่ด่านหน้าผู้มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย จำนวน 274,701 โดส หญิงตั้งครรภ์ จำนวน 9,496 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 1,002,510 โดส และประชาชนทั่วไป 6,763,823 โดส (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ย.64)