In News

มติครม.นอกสถานที่ภูเก็ตอนุมัติ9เรื่อง รถไฟฟ้าและทางด่วนกะทู้-ป่าตองฉลุย



ภูเก็ต-ครม. อนุมัติ วงเงิน 2,298.5488 ล้านบาท เดินหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน/เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียน มุ่งลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19ต่อกลุ่มคนยากจน/MEs หายห่วง ! ครม.เพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 100 บาทล้านบาท/ราย ขยายระยะเวลายื่นคำร้องถึง 30 มิ.ย. 64/ ครม.รับทราบความคืบหน้าระบบขนส่งมวลชนจ.ภูเก็ตวงเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,177 ล้านบาท/ครม.รับทราบแนวทางพัฒนาท่องเที่ยว 3 จังหวัด สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต/ ครม.อนุมัติหลักการยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร ช่วยผู้ประกอบการลดผลกระทบโควิด-19/ครม.เห็นชอบแผน 3 ปี  5มาตรการ 9 แนวทาง ปราบปรามยาเสพติด ใช้งบ 15,957 ล้านบาท/ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 ดูแลเกษตรกร 1.1 ล้านครัวเรือน พร้อม 3 มาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผลผลิตการเกษตร

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน วงเงินงบประมาณ 2,298.5488 ล้านบาท เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากล ให้เกิดการจ้างงานในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามข้อเสนอโครงการภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 

ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 12 โครงการ 
 1. โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ พื้นที่ดำเนินการจังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 786.4897 ล้านบาท
 2. โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลกเพื่อการท่องเที่ยว พื้นที่ดำเนินการจังหวัดระนอง งบประมาณ 385.4651 ล้านบาท
 3. โครงการป้องกันและเฝ้าระวังภัยจากแมงกะพรุนพิษในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว พื้นที่ดำเนินการจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ระนอง ตรัง และสตูล งบประมาณ 54.00 ล้านบาท
 4. โครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังมลพิษและติดตามมลพิษทางทะเลเพื่อการท่องเที่ยวปลอดภัย พื้นที่ดำเนินการจังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ งบประมาณ 106.4760 ล้านบาท
 5. โครงการติดตั้งทุ่นผูกเรื่อเพื่อการอนุรักษ์ปะการังในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล พื้นที่ดำเนินการจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล งบประมาณ 66.40 ล้านบาท
 6. โครงการติดตั้งทุ่นแพลอยน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลฝั่งอันดามัน พื้นที่ดำเนินการจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา ตรัง สตูล และระนอง งบประมาณ 154.70 ล้านบาท
 7. โครงการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล พื้นที่ดำเนินการจังหวัดกระบี่ พังงา และระนอง งบประมาณ 44.8280 ล้านบาท 
 8. โครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พื้นที่ดำเนินการจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และระนอง งบประมาณ 59.450 ล้านบาท 
 9. โครงการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยการปลูกเสริมในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล พื้นที่ดำเนินการจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา งบประมาณ 230.8200 ล้านบาท
 10. โครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล พื้นที่ดำเนินการจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา ตรัง สตูล และระนอง งบประมาณ 200 ล้านบาท 
 11. โครงการฟื้นฟูชายหาดคึกคักแบบบูรณาการ พื้นที่ดำเนินการ จังหวัดพังงา งบประมาณ 199.9200 ล้าบาท
 12. โครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการการศึกษาออกแบบแนวกันคลื่นปากร่องน้ำเค็มเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า พื้นที่ดำเนินการจังหวัดพังงา งบประมาณ 10 ล้านบาท

 ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียน มุ่งลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19ต่อกลุ่มคนยากจน


 
น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบผลการประชุมและให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ภายใต้แนวคิด “การลดความยากจนและเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง : การฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนฯครั้งนี้จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 มีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประธานการประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 โดยทุกประเทศจะต้องมีมาตรการเพื่อรองรับการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มคนยากจน เพื่อให้อาเซียนสามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว เลขาธิการอาเซียนได้รายงานว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สัดส่วนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 15 เมื่อปี 2558 เป็นร้อยละ 47 เนื่องจากผลกระทบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม รวมทั้งแรงงานในเมืองที่ตกงานจากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการได้เดินทางกลับภูมิลำเนา  ดังนั้นประเด็นเรื่องความคุ้มครองทางสังคมและการรักษาความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นประเด็นที่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ชุมชนในชนบทสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวได้
สำหรับสาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯมีดังนี้คือ ที่ประชุมแสดงข้อห่วงกังวลเรื่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซึ่งทำให้ประชากรโลกกว่า 100 ล้านคน เข้าสู่สภาวะยากจนอย่างรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อความหิวโหยในระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ ต้องหยุดชะงักไป รวมทั้งมีข้อกังวลว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท  
อย่างไรก็ตามเพื่อขจัดความยากจนจากผลกระทบของโควิด-19ดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการดังนี้คือ  ปกป้องผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและการกระจายรายได้ และส่งเสริมการดำรงชีวิตในชนบทและสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและระบบการผลิตอาหารให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ สร้างความเชื่อมั่นมีหลักประกันว่าทุกประเทศมีกรอบแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูประเทศที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับคนยากจน  และให้ความสำคัญกับข้อจำกัดที่สตรีและเยาวชนในชนบทต้องเผชิญ ส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชนบท  เสริมสร้างกรอบนโยบายเชิงบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงชนบทกับเมืองในทุกระดับ

SMEs หายห่วง ! ครม.เพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 100 บาทล้านบาท/ราย ขยายระยะเวลายื่นคำร้องถึง 30 มิ.ย. 64

นายอนุชา บูรพชัยศรี เผย ครม. ขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่อง เพิ่มวงเงินสินเชื่อ ต่อรายจาก20 ล้านบาทเป็นไม่เกิน 100 บาทล้านบาทต่อราย พร้อมขยายระยะเวลารับคำร้องขอสินเชื่อสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ จังหวัดภูเก็ต กระทรวงการคลังเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี ช่วยเหลือ SMEs ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอย่างทั่วถึง โดย 1) ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs  ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการทั่วไปในภาคธุรกิจและสาขาที่เกี่ยวเนื่อง 2) ปรับปรุงวงเงินสินเชื่อต่อรายจากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายเป็นไม่เกิน 100 บาทล้านบาทต่อราย และ 3) ขยายระยะเวลารับคำร้องขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ออกไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยให้สถาบันการเงินต้องเบิกจ่ายสินเชื่อจากธนาคารออมสินให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรับคำขอสินเชื่อ

ครม. ยังเห็นชอบปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส เพื่อให้ บสย. ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs และจ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้ามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ครั้งภายหลังจากเริ่มต้นการค้ำประกัน ได้แก่ -ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออมสินช่วยเหลือ SMEs ในภาคการท่องเที่ยว(โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย)  จากเดิมที่จะสิ้นสุดรับคำขอสินเชื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ให้ขยายระยะเวลาและคำขอสินเชื่อออกไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564  โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ท่องเที่ยวและ supply chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ โอสเทล เป็นต้น วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท/ราย  คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ทั้งนี้ 
-ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาออกไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จากเดิมสิ้นสุดโครงการ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2563  โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส covid 19 ได้แก่ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง    (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพักและร้านอาหารที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี  ทั้งนี้  ได้อนุมัติไปแล้ว 521 ล้านบาท จากวงเงินจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ยังคงเหลือ 9,479 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้กับผู้ประกอบคนตัวเล็กในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่าครบวงจร

 ครม.รับทราบความคืบหน้าระบบขนส่งมวลชนจ.ภูเก็ตวงเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,177 ล้านบาท  
 
น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบผลการดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่1 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยมีความก้าวหน้าของโครงการดังนี้คือ  คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ(คชก.)ได้พิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 และมีมติให้ปรับปรุงแก้ไขและจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในรายงานอีไอเอก่อนนำเสนอคชก.พิจารณาอีกครั้ง ในส่วนของการตราพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจรฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจ.ภูเก็ตนั้น ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2562  
นอกจากนี้ยังได้จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี2562 มีรายละเอียดของโครงการดังนี้คือ แนวเส้นทางโครงการของระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 จะเริ่มจากสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตและไปสิ้นสุดบริเวณห้าแยกฉลอง ระยะทางรวม 42 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 21 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บริเวณใกล้ห้างเทสโก้โลตัสถลาง ส่วนของระบบรถไฟฟ้า จะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาประเภท Tram แบบพื้นต่ำ เป็นระบบล้อเหล็กหรือล้อยาง ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 80กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะ  และมีระบบแบตเตอรี่สำรองสำหรับขับเคลื่อนในระยะสั้น คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน กรอบวงเงินลงทุนโครงการเบื้องต้น 35,201 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนเท่ากับ 1.12 และผลตอบแทนทางการเงินเท่ากับร้อยละ 2.34 ผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบPPP ในเบื้องต้นพบว่า PPP Net Cost มีความเหมาะสม โดยรฟม.จะดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ต่อไป
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเห็นว่าโครงการขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต จะช่วยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจ.ภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาการจราจร เสริมสร้างศักยภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สนับสนุนและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน โดยตามแผนการดำเนินงานโครงการนั้น ครม.จะอนุมัติรูปแบบการลงทุนโครงการได้ในเดือนต.ค.2564  คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการในเดือนมี.ค.2565-มี.ค.2566  เริ่มก่อสร้างเดือนเม.ย.2566 และเปิดให้บริการในเดือนก.ค.2569
ขณะเดียวกันครม.ยังได้รับทราบผลการดำเนินโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)  มูลค่าลงทุน 14,177 ล้านบาท  เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทางระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตาในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ต.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 มีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจร้อยละ 20.44 อัตราผลตอบแทนด้านการเงิน 8.94 คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ทางพิเศษจำนวน 71,050คันต่อวัน ส่วนความคืบหน้าของโครงการนั้น ทางกทพ.ได้ส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้สคร. ซึ่งสคร.ได้ขอให้กทพ.เร่งดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ให้มีความชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ทั้งหมดแล้วเสร็จได้ภายในเดือนธ.ค.2563 โดยตามแผนงานจะคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการได้ในเดือนมิ.ย.2564- ม.ค.2566 ก่อสร้างโครงการเดือนก.พ.2566-ม.ค.2570 เปิดให้บริการได้ในเดือนก.พ.2570

ครม.รับทราบแนวทางพัฒนาท่องเที่ยว 3 จังหวัด สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต
น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 3 โครงการที่สำคัญดังนี้คือ โครงการคลองท่อมเมืองสปา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่, โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำผุดบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการจัดการแข่งขันกีฬาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2562 มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 68 แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ดังนั้นจึงต้องเร่งกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมี 3 โครงการข้างต้นของทั้ง 3 จังหวัดเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ
สำหรับโครงการคลองท่อมเมืองสปา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แยกเป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาดังนี้คือ โครงการพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อนคลองท่อมเมืองสปา, โครงการบริหารจัดการน้ำพุร้อนเค็มให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน และโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพุร้อนอย่างยั่งยืน
ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำผุดบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น อ่างน้ำผุดบางสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่มีจุดเด่น คือ เป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่จากธรรมชาติที่มีอ่างน้ำผุดที่ผุดจากใต้ดินมากกว่า 10,000 จุด มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาตลอดทั้งปี มีโครงการที่สำคัญในการพัฒนาดังนี้คือ โครงการพัฒนาสินค้าและกิจกรรม(New Product) ได้แก่ กิจกรรมเดินป่า  กิจกรรมSub Board/แคนู/คายัค การพัฒนาที่พักชุมชน การสร้างโปรแกรมทัวร์ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ป้ายบอกทาง การปรับปรุงสะพานเดินชม การก่อสร้างห้องน้ำ เป็นต้น
ขณะที่โครงการจัดการแข่งขันกีฬาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เป็นแนวคิดเพื่อพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทยสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจและความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวที่เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา มีโครงการที่สำคัญในการพัฒนาดังนี้คือ โครงการพัฒนาบุคลากรกีฬา โครงการสร้างสังคมกีฬาและวัฒนธรรมกีฬาจากฐานชุมชน โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกีฬาแบบดิจิทัล โครงการจัดแข่งขันกีฬานานาชาติ 9 ชนิดกีฬา โครงการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา โครงการจ้างงานประชาชนในการจัดการแข่งขันกีฬา

 ครม.อนุมัติหลักการยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร ช่วยผู้ประกอบการลดผลกระทบโควิด-19
น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร เป็นระยะเวลา 1ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกอบด้วย 3 รายการดังนี้คือ  1.ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ปกติอัตราจัดเก็บอยู่ที่เครื่องละ 750 บาท แต่ไม่เกิน 12,000 บาท 2.ค่าเครื่องหมายการจดทะเบียนซึ่งเจ้าพนักงานได้ประทับหรือทำไว้ที่เครื่องจักร อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่ เครื่องหมายละ 120 บาท แต่ไม่เกิน 1,200 บาท และ 3. ค่าคัดสำเนาเอกสารพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้อง อัตราจัดเก็บอยู่ที่หน้าละ 10 บาท
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประมาณการการสูญเสียรายได้จากการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งนี้ในรอบ 1 ปี อยู่ที่ประมาณ  2 ล้านบาท

ครม.เห็นชอบแผน 3 ปี  5มาตรการ 9 แนวทาง ปราบปรามยาเสพติด ใช้งบ 15,957 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดปี2563-2565 งบประมาณดำเนินการจำนวน 15,957 ล้านบาท แยกเป็น ด้านการป้องกันยาเสพติดจำนวน 5,608 ล้านบาท ด้านการปราบปรามยาเสพติดจำนวน 5,897 ล้านบาท และด้านการบำบัดรักษายาเสพติดจำนวน 4,451 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแผนชี้นำการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดและลดระดับปัญหาได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายใน 3 ปี และลดระดับจนไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศภายในปี 2580 ประกอบด้วย 5 มาตรการ 9 แนวทาง
มาตรการแรก ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ มี 1 แนวทางคือ แนวทางในการให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การปฏิบัติการสนับสนุนซึ่งกันและกัน การบริหารจัดการชายแดน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร มาตรการที่ 2 การปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย มี 2 แนวทางคือ การสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และการปราบปรามกลุ่มการค้ายาเสพติด มาตรการที่ 3 การป้องกันยาเสพติด มี 3 แนวทางคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน และชุมชนตามแนวชายแดนและการพัฒนาทางเลือก, การป้องกันยาเสพติดในแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสมเป็นรูปธรรม และการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
มาตรการที่ 4 การบำบัดรักษายาเสพติด มี 1 แนวทางคือ การดูแลผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ให้เข้าถึงการบำบัดรักษาและการลดอันตรายหรือผลกระทบจากยาเสพติด  มาตรการที่ 5 การบริหารจัดการอย่างบูรณาการ มี 2 แนวทางคือ แนวทางแรกเป็น กิจการพิเศษเพื่อดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่พิเศษ โดยการควบคุมและใช้ประโยชน์จากพืชเสพติด และการพัฒนามาตรการทางเลือกรูปแบบใหม่ เช่น การทำให้ยาเสพติดชนิดที่ไม่ร้ายแรงเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย และแนวทางที่ 2 การบริหารจัดการอย่างบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบโดยการพัฒนาระบบข้อมูล และการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลยาเสพติด

ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 ดูแลเกษตรกร 1.1 ล้านครัวเรือน พร้อม 3 มาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผลผลิตการเกษตร 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 พร้อม3 มาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต  รายละเอียดดังนี้ 

การประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ความชื้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ได้แก่ 1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน 2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน 3. ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน 4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และ 5. ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน 

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้มิสิทธิได้รับการชดเชย จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการประกันฯ ได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน ในส่วนของการจ่านเงิน ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. 

รองฯ รัชดา กล่าวต่อไปถึง มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 ประกอบไปด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2564  2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ตุลาคม2563-31ธันวาคม 2564 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 610 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2563 - 31 ตุลาคม 2565 โดยทั้ง 3 โครงการจะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 35,999 ล้านบาท

มากไปกว่านั้น ครม.ยังเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563 /2564 โดยให้จ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมการส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการจ่ายก่อนในเบื้องต้น วงเงินจ่ายขาด 28,046 ล้านบาท

ครม. อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 ตามหลักเกณฑ์เดิม ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกว่า 1.8 ล้านราย พร้อม 4 โครงการคู่ขนาน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ว่า ครม. อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2  วงเงิน 10,042 ล้านบาท  เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 คือ ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ 1)ยางแผ่นดิบคุณภาพดี  ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม 2)น้ำยางสด (DRC 100%)  ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และ3)ยางก้อนถ้วย (DRC 50%)  ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 - กันยายน 2564 (ประกันรายได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - 1 มีนาคม 2564) ทั้งนี้ ราคายางยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในช่วงที่ผ่านมา ขยับเกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ซึ่งรัฐบาลจะพยายามรักษาระดับราคายางพาราให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป

มากไปกว่านั้น ครม.ได้อนุมัติ 4 โครงการคู่ขนานตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางขายไม้ยางพาราได้ในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงสนับสนุนการลดพื้นที่ปลูกยางพารา โดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกิน 600 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการโครงการ 4 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายของโครงการมีดังนี้ (1)ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ร้อยละ 80 (2)กระตุ้นการโค่นยาง จำนวน 400,000 ไร่ และดูดซับไม้ยางจากการโค่น จำนวน 12 ล้านตัน และ (3)ราคาไม้ยางที่คาดหวังเฉลี่ย 1,300 บาทต่อตัน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2565 

2.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นการขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ทั้งสองโครงการให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย (1) ขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จากเดิมวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 โดยให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาค้ำประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ออกไปและยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเงินกู้ พร้อมชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา FDR+1 (2)นำเงินจากการระบายยางในสต็อกและของบประมาณชดเชยการขาดทุนชำระคืนเงินกู้ ธ.ก.ส. วงเงินรวมทั้งสองโครงการ จำนวน 9,955.32 ล้านบาท และ (3) ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย ค่าจ้างผลิตยาง และอื่น ๆ รวม 898.76 ล้านบาท 

3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินเดิม) วงเงินรวม 25,000ล้านบาท เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการดังนี้ (1) ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ได้ทุกธนาคาร จากเดิม เฉพาะธนาคารพาณิชย์ (2) ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อทุก 1ล้านบาท จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศเป็น 2 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2563 เดิมที่กำหนดในปีที่ 1 - 2 ของการลงทุน ต้องเพิ่มเป็น 2 ตันต่อปี ส่วนปีที่ 3 เป็น 4 ตันต่อปี) และ (3) ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสอบการใช้ยางของผู้ประกอบการเป็นรายปี ในปีการผลิต 2563 จากเดิมที่กำหนดเป็นรายเดือน โดยใช้วงเงินเดิมของโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาได้อนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไปแล้ว 14,038.20 ล้านบาท วงเงินโครงการคงเหลือ 10,961.80 ล้านบาท

4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) เป็นการเพิ่มกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้วงเงินเดิมของโครงการ วงเงิน 20,000 ล้านบาท  ซึ่งกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นใ?