In Bangkok
รองผู้ว่าฯกทม.ลงเขตภาษีเจริญตรวจงาน ดูสวน15นาที-จัดระเบียนผู้ค้า-แยกขยะ
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ติดตามงานเขตภาษีเจริญ รุกปั้นสวน 15 นาทีเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดถนนบางแวก คุมเข้มควันดำรถขนส่งน้ำแข็งหลอด จัดระเบียบผู้ค้าหน้าโรงพยาบาลพญาไท 3 ชูคัดแยกขยะซีคอนบางแค ตรวจแยกขยะเขตภาษีเจริญ งานทะเบียนบัตร ระบบ BMA-TAX
(30 ต.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ประกอบด้วย
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 จุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางแยกถนนบางแวก ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สวน 15 นาที บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 จุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางแยกถนนบางแวก พื้นที่ 12 ตารางเมตร โดยปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาเป็นสวน 15 นาที ทำสะพานทางเดินข้ามร่องน้ำ ปลูกต้นพุทธรักษากลางร่องน้ำ ปลูกต้นรวงผึ้งตลอดแนว ปรับสภาพพื้นดินและปูหญ้า ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง วาดภาพเสาตอม่อ ติดตั้งเครื่องออกกำลังกาย 2.สวนแห่งรอยยิ้มและพื้นที่สุขภาวะ ชุมชนเลิศสุขสม บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 พื้นที่ 400 ตารางเมตร ปรับปรุงเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ทำทางเดินสปาเท้า ที่นั่งพักผ่อนจากวัสดุเหลือใช้ 3.สวนป่าถนนศาลธนบุรี พื้นที่ 1,920 ตารางเมตร โดยพัฒนาพื้นที่ว่างบริเวณหน้าหมู่บ้านกิจเจริญ ซอยศาลธนบุรี 29 ทำทางเดิน ปลูกไม้พุ่ม ทำป้ายชื่อสวน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาเดินออกกำลังกายและนั่งเล่นพักผ่อน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาทีแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนวัดกำแพงบางแวก ซอยบางแวก 32 พื้นที่ 560 ตารางเมตร โดยดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ หล่อปูนล้อมต้นไม้ ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 40% 2.สวนต้นหูกระจง พื้นที่ 1,528 ตารางเมตร อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่เพื่อออกแบบสวน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ภาษีเจริญ น้ำแข็งหลอด จำกัด ซอยเพชรเกษม 54 แยก 3 ซึ่งประกอบกิจการประเภท การผลิต สะสม แบ่งบรรจุ หรือขนส่งน้ำแข็ง มีรถที่ใช้ในการประกอบการ ได้แก่ รถกระบะ จำนวน 4 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 4 คัน โดยเขตฯ ได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ทั้งนี้ เขตฯ จะสุ่มตรวจสังเกตจากสภาพรถยนต์และลักษณะของควันที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และประชาสัมพันธ์ให้พนักงานประจำรถยนต์ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยมีค่าควันดำไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าโรงพยาบาลพญาไท 3 ถนนเพชรเกษม เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 15 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 257 ราย ดังนี้ 1.ซอยเพชรเกษม 48 ผู้ค้า 25 ราย 2.ซอยเพชรเกษม 42 ผู้ค้า 21 ราย 3.ซอยเพชรเกษม 36 ผู้ค้า 32 ราย 4.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 11 ราย 5.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 7 ราย 6.ซอยเพชรเกษม 20 ผู้ค้า 31 ราย 7.หน้าโรงพยาบาลพญาไท 3 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 4 ราย 8.หน้าวัดนาคปรก ถนนเทอดไท ผู้ค้า 12 ราย 9.ซอยเพชรเกษม 33 ผู้ค้า 17 ราย 10.ซอยเพชรเกษม 39 ผู้ค้า 7 ราย 11.หน้าบ้านพักคนชรา ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 49 ราย 12.ปากซอยวงศ์ดอกไม้ ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 22 ราย 13.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 4 ราย 14.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 6 ราย และ 15.ซอยเพชรเกษม 54 ผู้ค้า 9 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับร้านค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการจัดระเบียบพื้นที่ ไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า โดยให้ขยับถอยร่นเข้าไปในอาคาร พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนบางแค พื้นที่ 300,000 ตารางเมตร ร้านค้า 200 ร้าน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ขอความร่วมมือร้านค้าให้คัดแยกขยะเศษอาหาร และนำมาใส่ในภาชนะรองรับขยะเศษอาหาร ที่ทางศูนย์ฯ จัดไว้ให้บริเวณจุดทิ้งขยะ เพื่อรวบรวมส่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงปลา 2.ขยะรีไซเคิล จัดถังสำหรับแยกขยะรีไซเคิลในพื้นที่ส่วนกลางของศูนย์ฯ ซึ่งขยะรีไซเคิลที่คัดแยกได้ จะถูกส่งขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า เพื่อสร้างรายได้เสริม 3.ขยะทั่วไป ขยะที่เหลือจากการคัดแยกไปใช้ประโยชน์ เขตฯ จะส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธีที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม 4.ขยะอันตราย ศูนย์ฯ จะแยกออกมาใส่ถังเฉพาะ และประสานเขตฯ ให้จัดเก็บและส่งไปทำลายอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 20-25 ลูกบาศก์เมตร/วัน หลังคัดแยก 5-7 ลูกบาศก์เมตร/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 600-700 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1-2 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 40-50 กิโลกรัม/วัน
ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะเขตภาษีเจริญ มีข้าราชการและบุคลากร 232 คน มีวิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายจะคัดแยกขยะรีไซเคิล และนำมาใส่ในถังรองรับขยะรีไซเคิลที่จัดไว้ พนักงานสถานที่ประจำอาคารเก็บรวบรวม บางส่วนเจ้าหน้าที่นำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าเพื่อเป็นรายได้ บางส่วนแยกให้กับรถเก็บขนมูลฝอยเพื่อนำไปขาย 2.ขยะอินทรีย์ จัดวางถังรองรับขยะเศษอาหารบริเวณจุดที่กำหนด ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเศรษฐกิจพอเพียงเขตภาษีเจริญ อีกส่วนหนึ่งนำไปเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย 3.ขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะจากจุดพักรวมขยะอันตราย เพื่อส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมทุกสิ้นเดือน 4.ขยะทั่วไป เป็นขยะที่เหลือจากการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ พนักงานสถานที่ประจำอาคาร จะรวบรวมมาวางไว้ที่จุดรวมมูลฝอย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บมูลฝอยทั่วไปทุกวัน เพื่อส่งกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 693 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 91 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 72 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ โดยสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 42,357 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 43,356 แห่ง ห้องชุด 22,680 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 108,393 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว จากนั้นได้สอบถามถึงการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตภาษีเจริญ ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการได้รับความสะดวกและรวดเร็ว
ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางเยาวะสกุล ทองธัญวีรัตน์ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตภาษีเจริญ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล