EDU & ESG

วว.ร่วมกรมอุทยานฯจังหวัดนครราชสีมา ร่วมผลักดันสู่เมืองอุทยานธรณีระดับโลก



กรุงเทพฯ-กระทรวง อว. โดย วว. ผนึกกำลังกรมอุทยานแห่งชาติฯ  จังหวัดนครราชสีมา ร่วมผลักดันโคราชสู่การเป็นเมืองอุทยานธรณีระดับโลก

นางสาวศุภมาส อิศรภักดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับและความยั่งยืนของมาตรฐานคุณภาพ ตามแนวทางองค์การยูเนสโกในพื้นที่สงวนชีวมณฑล มรดกโลก และอุทยานธรณีโลก(Global Geopark) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อนำไปสู่คุณค่าระดับผู้นำของโลกในลักษณะของดินแดนแห่ง 3 มรดกยูเนสโก หรือ “The UNESCO Triple Heritage” อันจะก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นการนำองค์ความรู้ที่เกิดจากสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงสถาบันวิจัย ไปร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกในเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้กับท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม 

โอกาสนี้พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. ผู้บริหารกระทรวง อว. รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ดร.สุรชิต  แวงโสธรณ์ผอ.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมวว. ร่วมเป็นเกียรติและเป็นสักขีพยาน   เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567  ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

อนึ่ง บันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ 1) ความร่วมมือในการอนุรักษ์แหล่งและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  2) การส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ด้านการวิจัยและการบริการวิชาการ   3) การเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความก้าวหน้าเชิงวิชาการให้เข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและนานาชาติ  4) การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พื้นที่อุทยานธรณีโลกโคราช หรือปริมณฑล   และ 5) ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยว ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน