Think In Truth

ชำแหละ ผลจากสังคมก้มหน้าตอนที่1 (Just Look Up) โดย : ฅนข่าว 2499



มีคลิปวีดิโอชิ้นหนึ่งได้แพร่อยู่ในแวดวงสื่อสังคมและได้รับความสนใจจากคนทั่วไปนับล้าน ในชื่อหัวข้อว่า “Just Look Up” ถ้าแปลเป็นไทยก็คือ “เงยหน้าขึ้นมาบ้างเพื่อนเอ๋ย” ซึ่งเป็นคำร้องขอของหนุ่มคนหนึ่ง ที่บอกว่า แม้เขาจะมีเพื่อนทางโซเชี่ยลมีเดียมากมายแต่เขาก็ยังโดดเดี่ยว

และในตอนจบของคลิปนี้ เขาเรียกร้องให้ทุกคน“ Just Look Up” จากมือถือของตัวเองและสนทนากับผู้คนรอบด้านบ้างและยอมรับว่า“ผมก็ผิดด้วย เพราะว่าผมก็ใช้การสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลนี้กับท่านดังนั้น หลังจากดูวีดิโอคลิปของผมชิ้นนี้แล้วขอให้เริ่มใช้ชีวิตจริงๆ ของคุณเสียที”และในวันนี้คุณเงยหน้ามองตาคนรอบตัวคุณหรือยังหรือมันช้าไปเสียแล้วอย่ากลายเป็น “สังคมก้มหน้า” กันนักเลย

 

สังคมก้มหน้าคือ สังคมคนที่ไม่สนใจผู้คน สนแต่กิจกรรมบนมือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ทำให้สังคมใกล้ตัวเกิดปัญหา ขาดความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว สมาธิสั้น ไม่ใส่ใจสนใจคนอยู่รอบข้าง แต่กลับไปให้กับใครๆที่มาตามสาย ตาม Line แทน 

ปัจจุบันสมาร์ทโฟนทั้งหลายได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่หรือคนทั่วโลกไปแล้ว จะเห็นได้จากกลุ่มคนทุกวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงวัยทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วจะต้องเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 1 เครื่อง ผลกระทบที่ตามมาจากการที่ทุกคนให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟนเหล่านี้ก็คือ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมระดับต่างๆ ลดลงไปจนถึงขั้นย่ำแย่

เนื่องจากสมาร์ทโฟน ได้ดึงความสนใจจากสิ่งต่างๆ รอบตัวไปจนหมด ทุกคนต่างก้มหน้าก้มตาเสียเวลาไปกับสิ่งนี้ จนทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้าง ไม่มีใครสนใจใคร จนกลายเป็นสังคมก้มหน้าที่เราได้ยินกันจนคุ้นหูและเห็นภาพเหล่านี้จนชินตา นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย ได้แก่ การเกิดปัญหานิ้วล็อค อาการปวดหลังหรือต้นคอ เนื่องจากการก้มเป็นเวลานาน ปัญหาทางสายตาที่เกิดจากการเพ่งมองมากเกินไป หรือทางด้านจิตใจ คือ ก่อให้เกิดความหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป จนก่อให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร เป็นต้น

 

ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการใช้มือถือ  เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดระหว่างบริษัทผู้ผลิตมือถือ นักวิทยาศาสตร์ และผู้บริโภค  ในปี 1998  มีการประกาศ Vienna Resolution ในเรื่องผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณคลื่นไมโครเวฟออกมา  ซึ่งรวมทั้งโทรศัพท์มือถือด้วย  หลังจากนั้นก็มีความพยายามศึกษาและการวิจัยถึงอันตรายของโทรศัพท์มือถือต่อสุขภาพมาโดยตลอด

ที่ผ่านมามีการศึกษาถึงผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือต่อระบบต่างๆ ดังนี้

- ความร้อนที่เกิดขึ้นต่อผิวหนัง และเนื้อสมอง

- ความเสี่ยงต่ออุบัติการณ์เนื้องอกและมะเร็งชนิดต่างๆ

- DNA และระบบภูมิต้านทานของร่างกาย

- ผลกระทบต่อหญิงมีครรภ์ และเด็กทารกในท้องแม่

- ผลกระทบต่อความดันโลหิต และหัวใจ

- โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โรคสั่นในคนสูงอายุ (Parkinson) และโรค Multiple Sclerosis

-  อาการปวดศรีษะ เวียนหัว และสมาธิหลุดง่าย

-  ผลกระทบต่อระบบประสาท

จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะสามารถคลี่คลายได้หากผู้ใช้รู้จักใช้อย่างมีสติและรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางด้านความปลอดภัยชีวิต โดยมีตัวอย่างที่จะขอหยิบยกขึ้นมาเตือนใจดังต่อไปนี้

การเสพติดการสื่อสารออนไลน์

การเสพติดเทคโนโลยีหรือที่หลายๆ คนเรียกว่าเป็นพวกสังคมก้มหน้า ซึ่งจริงๆ แล้วการเสพติดไม่ใช่การเปิดประตูบ้านของเราให้คนอื่นเข้ามา แต่เป็นการปิดประตูบ้านกักขังตัวเองไว้ในโลกเสมือนจริงที่สัมผัสได้แค่เพียงจอมือถือ

ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้วเทคโนโลยีถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีอิทธิพลกับสังคมในปัจจุบันเป็นอย่างมาก สามารถแลกเปลี่ยนความรู้หรือสิ่งที่สนใจร่วมกันได้หรืออาจจะใช้เพื่อการโฆษณา เอื้อต่อการประกอบธุรกิจยิ่งในปัจจุบันคนส่วนมากนิยมใช้เทคโนโลยีเพื่อคลายเครียดและติดต่อกับเพื่อนที่อยู่ไกลกัน

ภาพที่เห็นจนชินตา ก็คือ เด็กวัยรุ่ยไทยเล่นโทรศัพท์ตลอดเวลา แม้กระทั่งในขณะรับประทานอาหารหรือเดินข้ามถนน ทำให้ขาดการสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง สมาร์ทโฟนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แม้แต่พ่อแม่ยังไลน์ตามลูกจากบนบ้านลงมาทานข้าวทั้งๆที่อยู่ใกล้กันนิดเดียว

จริงอยู่ที่เทคโนโลยีสามารถอำนวยความสะดวก แต่ทุกสิ่งย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จากกรณีล่าสุดที่กรมการปกครองถึงขั้นห้ามไม่ให้บุคลากรใช้โปรแกรมโซเซียล เนื่องจากกรมการปกครองได้รับแจ้งว่ามีบุคลากรภาครัฐบางรายใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารเข้าข่ายความผิดทางอาญา หรือกรณีที่คนร้ายตระเวนฟันแขน ทำร้ายร่างกาย โดยเลือกเหยื่อที่ถือโทรศัพท์ราคาแพง

ดังนั้นหากใช้เทคโนโลยีมากเกินไป ก็สามารถส่งผลเสียให้แก่ผู้ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน สุขภาพ และความปลอดภัย การเสพติดเครื่องมือสื่อสารหรือเเม้เเต่ปัญหาอาชญากรรมที่เคยเกิดจากการใช้เทคโนโลยีที่ผิดๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสมัยนี้เด็กประถมก็ยังใช้สมาร์ทโฟนด้วยวัยที่ยังไม่มีวุฒิภาวะหรือเลียนแบบคนใกล้ตัวได้ง่าย ทำให้เด็กตกเป็นทาสของเทคโนโลยี

รศ.ดร. กาญจนา แก้วเทพ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุในหนังสือแนวพินิจใหม่ในสื่อสารศึกษาไว้ว่า กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นเปลี่ยนไปเป็นวัฒนธรรมเดียวเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมจนทำให้เกิดการเลียนแบบ และกลายเป็น หมู่บ้านโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าจนเกิดช่องทางการสื่อสารของสื่อ ทำให้สามารถกระจายสื่อได้อย่างรวดเร็วและกว้างไกล เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสัมผัสรับรู้เรื่องราว ภาพ และเหตุการณ์ในเวลาเดียวกันทั่วโลก  

ภณสุทธิ์ สุทธิประการ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นถึงข้อดีของเทคโนโลยีว่า ตัวสมาร์ทโฟนก็เป็นหนึ่งอุปกรณ์เสริมศักยภาพในการทำงานของคนที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร เนื่องจากโทรศัพท์ในสมัยก่อนใช้ได้เพียงโทรหากัน หรือส่งข้อความสั้นๆ แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เครื่องมือสื่อสารสามารถตอบสนองแนวความคิด ที่นอกเหนือจากตัวหนังสือได้ทันที ทำให้ปัจจุบันสมาร์ทโฟนกลายเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถใช้ค้นคว้าข้อมูล ดูหนัง ฟังเพลง หรือใช้ในการบริหารงานผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ จนแพร่หลายกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่

 

ในขณะเดียวกันก็มีบางคนที่ไม่พร้อมใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ จึงทำให้เกิดภาวะชะงักเทคโนโลยี หรือภาวะช็อคเทคโนโลยี ซึ่งแต่ก่อนสมาร์ทโฟนถูกมองว่าเป็นสิ่งที่วัดระดับทางสังคม การศึกษา คนที่มีฐานะเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ใช้งาน แต่ในความเป็นจริงสมาร์ทโฟนไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อแบ่งชนชั้นทางสังคม ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกกรณี ทั้งพื้นที่ชายแดนที่การติดต่อสื่อสารลำบาก เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ก็สามารถเชื่อมต่อคนสองคนจากต่างพื้นที่ได้ จึงช่วยย่นระยะเวลาและการเดินทาง  

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวก แต่ผู้ใช้ก็ควรตระหนักถึงการใช้งาน  ควรนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีเข้ามาครอบงำ เเละเเก้ปัญหาการเสพติดเทคโนโลยี (ที่มา: http://www.jr-rsu.net/article/1361#sthash.sr4xg9Xq.dpuf)

การเสพติดสมาร์ทโฟน

ตั้งแต่เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่ความสามารถน้องๆ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้เข้ามามีบทบาทในสังคมของเรามากขึ้น รวมทั้งโมบายแอพพลิเคชั่นบนระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทยอยออกมาช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของเราให้ในแทบจะทุก ๆ ด้าน แถมประสิทธิ ภาพการทำงานก็พอฟัดพอเหวี่ยงกับคอม พิวเตอร์ตั้งโต๊ะเสียอีก

เคยสังเกตไหมว่าเดี๋ยวนี้คุณและคนรอบตัวใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนเหล่านี้มากกันแค่ไหนและบ่อยกันแค่ไหน บางคนในแต่ละวันเขาจะใช้เวลาอยู่กับมือถือมากกว่าการทำกิจกรรมอย่างอื่นทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ตื่นนอนก็มีนาฬิกาปลุก การแจ้งเตือนกิจกรรมที่ต้องทำ อ่านปฏิทินว่าวันนี้มีงานอะไรบ้าง เขียนบันทึก คุยกับเพื่อนทางไลน์ อ่านข่าวสารทางทวิตเตอร์ ตามข่าวเพื่อนในเฟซบุ๊ก แชร์รูปหรือวิดีโอลงอินสตาแกรม เล่นเกมออนไลน์ รวมไปถึงการอ่านข่าวสารบันเทิงต่าง ๆ บนเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดอินเทอร์เน็ต

คำถามที่น่าสนใจต่อไป คือ แล้วจำนวนคนใช้สมาร์ทโฟนกับจำนวนคนใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะล่ะ อันไหนมีตัวเลขหรือสัดส่วนมากกว่ากันในความเป็นจริง โดยที่สหรัฐอเมริกา บริษัทวิจัย Enders Analysis ได้ทำการสำรวจและวิจัยในประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยรวบรวมตัวเลขการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนในสหรัฐอเมริกา ผลการวิจัยที่ได้ชี้ชัดว่าคนในประเทศใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตทางคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ค่อย ๆ ลดลง

 

ดูจากตรงนี้ก็อาจไม่รู้สึกแปลกใจอะไร หลายๆ คนอาจจะยังคิดด้วยซ้ำว่ามันก็แค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว ยังไงซะจำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็ต้องมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาวอยู่ดี ประเด็นสำคัญก็คือ ยิ่งทางบริษัทเก็บผลการสำรวจมาเรื่อย ๆ ต่อเนื่องทุก ๆ เดือนตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2013  จนมาเดือนมกราคมในปี ค.ศ. 2014 นี้ สิ่งที่พบคือจำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านทางมือถือนั้นมีถึง 55% ซึ่งมากขึ้นจนแซงหน้าจำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านทางคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในปัจจุบัน

นอกจากนี้แล้วทางบริษัทยังค้นพบด้วยว่าในจำนวนผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือนั้น ส่วนใหญ่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางแอพพลิเคชั่นมากกว่าผ่านเว็บบราวเซอร์ของมือถือเอง เหตุผลง่าย ๆ ก็เพราะผู้ผลิตเหล่านั้นทำแอพพลิเคชั่นออกมาตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ใช้มากกว่านั่นเอง ตัวเลขนี้ไม่เพียงแต่ให้ภาพที่ชัดเจนถึงบทบาทของโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังบ่งบอกถึงการเปลี่ยน แปลงของโลกเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ของเราด้วย ว่ามันถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอัตราเร่ง หรือเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แบบก้าวกระโดด ซึ่งดูได้จากจำนวนแอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์และเพลย์สโตร์ของสองระบบปฏิบัติการยักษ์ใหญ่อย่างไอโอเอสและแอนดรอยด์สิ ตอนนี้มีจำนวนนับหมื่นนับแสนรองรับทั้งสมาร์ทโฟนแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์และสมาร์ททีวี

แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา แต่เหล่าโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาไม่ว่าจะแบบแอพฟรีหรือแอพเสียเงินก็ไม่ย่อท้อ ยังคงวิ่งไล่การเปลี่ยนแปลงแข่งขันกันพัฒนา อัพเดท และออกแอพรุ่นใหม่ ๆ กันอยู่ตลอดเวลา ช่องทางการเผยแพร่แอพพลิเคชั่นผ่านแอพสโตร์และเพลย์สโตร์นี้ ถือเป็นช่องทางที่เป็นความหวังใหม่สำหรับคนรักการเขียนโปรแกรมในยุคโลกาภิวัตน์และโลกไร้พรมแดนเพราะ

ถ้าเป็นแต่ก่อนการจะทำแอพพลิเคชั่นอะไรสักอย่างให้เผยแพร่ใช้งานกันได้ทั่วโลกนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ ถ้าไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่มีอำนาจต่อรองระดับโลก แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ต่อให้ไม่ได้เป็นพนัก งานบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ไม่ได้เรียนจบมาทาง การเขียนโปรแกรม ไม่ได้รู้จักหรือมีเครือข่ายกับบริษัทใหญ่โต ใช้แค่ความสามารถของตัวเองสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมา ส่งให้ทางแอพสโตร์และเพลย์สโตร์พิจารณาได้เหมือน ๆ กับที่คนอื่น ๆ ทั่วทั้งโลกทำกัน ถ้าแอพที่เราทำขึ้นผ่านมาตรฐานที่กำหนด มันก็จะได้ขึ้นไปปรากฏให้ผู้คนทั่วโลกได้ดาวน์โหลดไปลองใช้งานได้แล้ว เมื่อรู้ข้อมูลอย่างนี้แล้ว

ดังนั้น ต่อไปใครคิดจะพัฒนาเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นโดยสนใจแค่ให้มันทำงานได้ดีบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ไม่ได้ให้ความสนใจว่ามันจะทำงานได้ดีหรือดูสวยงามน่าใช้บนหน้าจอมือถือหรือไม่ ใครคนนั้นก็คงต้องกลับมาทบทวนเปลี่ยนความคิดของตัวเองใหม่แล้ว ในเมื่อเทคโนโลยีมือถือก้าวแซงหน้าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไปแล้ว แถมยังมีแนวโน้มจะเร่งเครื่องทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ อีก การจะพึ่งพาอินเทอร์เน็ตทำอะไรโดยละเลยกลุ่มผู้ใช้เกินกว่าครึ่งนี้ไปคงไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ในยุคที่การแข่งขันทางเทคโนโลยีเปิดกว้างให้กับผู้มีความสามารถทั่วโลกเช่นนี้ แล้วคุณล่ะจะเลือกแบบไหน ระหว่างการอยู่กับรูปแบบอำนาจและการผูกขาดเดิมที่แม้จะยังคงยิ่งใหญ่อยู่ แต่ก็ถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ กับการลุกขึ้นมาใช้ความสามารถของตัวเองเป็นแรงให้ออกวิ่งไล่ตามควบคู่ไปกับโลกที่ไม่หยุดหมุนนี้ สู่อนาคตที่เปิดกว้างรออยู่ข้างหน้า. (ที่มา : ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิตอ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/it/249142)

ฟับบิ้ง: เมื่อเราเห็นโทรศัพท์สำคัญกว่าเพื่อน

ตั้งแต่สมาร์ทโฟนเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ในบ้านหรือนอกบ้าน จะเห็นว่าใครๆ ก็เอาแต่ก้มหน้า กดยุกยิกๆกับมือถือของตนเอง พ่อ แม่ ลูก ถึงแม้จะอยู่ในบ้านเดียวกัน นั่งอยู่ในรถคันเดียวกัน แต่ทุกคนดูเหมือนจะสนใจอยู่กับโทรศัพท์มือถือของตัวเองมากกว่าที่จะพูดคุยหยอกล้อกัน ลูกน้องก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์มือถือระหว่างประชุมกับเจ้านาย นักเรียนก้มหน้าแอบใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างครูกำลังสอนในห้องเรียน หรือไม่ว่าจะไปกินข้าวดูหนัง ฟังเพลงกับเพื่อนๆเป็นกลุ่ม เจ้าโทรศัพท์มือถือก็มาขโขยซีน ทำให้คนคุยกันเองน้อยลง เอาเวลาไปแชทกับคนในโลกออนไลน์แทน พฤติกรรมเหล่านี้เราแทบจะเห็นได้ทั่วไปจนชินตา จริงๆแล้ว พฤติกรรมนี้เค้ามีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า Phubbing

Phubbing (ฟับบิ้ง)เป็นคำศัพท์ใหม่ ที่เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ พฤษภาคม 2555 โดยกลุ่มนักภาษาศาสตร์ชาวออสเตรเลียมาจากคำว่า Phone + Snubbing = Phubbing หมายถึง การเมินเฉย ไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือต่อหน้าคนๆ นั้น

 

คนที่กำลัง ฟับ (phub) จะก้มหน้าก้มตาสนใจแต่โทรศัพท์มือถือของตัวเองอย่างเดียว ไม่ดู ไม่มอง ไม่สนทนากับคนรอบข้างซึ่งถือว่าเป็นการกระทำไร้มารยาททางสังคมอย่างมาก

ปรากฏการณ์นี้ เห็นได้ทั่วๆ ไป พบได้ในทุกๆ ประเทศทั่วโลก เราอาจเรียกกันว่า “วัฒนธรรมก้มหน้า”หรือเรามีชนเผ่าใหม่อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ ได้แก่ "ชนเผ่าหัวก้ม" เพราะดูอย่าง เวลาขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปร้านอาหาร เรามักจะเห็นคนรอบๆ ตัวเรากำลังก้มหน้าดูแต่มือถือ ง่วนอยู่กับโทรศัพท์ของตนเอง โดยละเลยการพูดคุยกับคนรอบข้าง ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า เอ๊ะ? มันเกิดอะไรขึ้นในสังคมเรา สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม หรือว่า เป็นความผิดปกติของบุคคลกันแน่

มีคำอธิบายหลายอย่างเกี่ยวกับสาเหตุของ Phubbingส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า คนเราลึกๆ มีความรู้สึกไม่ต้องการอยู่คนเดียว ต้องการเชื่อมโยง ต้องการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นตลอดเวลา ต้องการคนอยู่ด้วย ต้องการเป็นที่สนใจ ได้เป็นจุดศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นการที่คนเอาโทรศัพท์ขึ้นมา เช็คเฟสบุ๊ค เช็คไลน์ เช็คอินสตาแกรม อาจจะให้ความรู้สึกเหมือนว่า เค้ากำลังเชื่อมโยงกับคนอื่นอยู่ กำลังเป็นที่สนใจอยู่  ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆกับคนๆนั้น

แต่ว่าในบางครั้ง การที่ใช้โทรศัพท์มือถือในบางสถานการณ์ อาจจะเป็นการใช้ เพื่อหลีกเลี่ยง เพื่อแยกตัว ในสถานการณ์ที่เค้ารู้สึกเบื่อ เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ อย่างเช่น เวลาเราขึ้นรถไฟฟ้า เราเบื่อที่จะต้องนั่งประจันหน้ากับคนที่เราไม่รู้จัก หรือว่าไม่อยากสนใจคนรอบข้าง เราก็เลือกที่จะควักโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่น เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องไปเผชิญกับความรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ซึ่งในบางครั้งอาการเช่นนี้เป็นอาการหนึ่งของคนที่เป็นโรค social phobia หรือโรคกลัวการเข้าสังคม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะรู้สึกอึกอัดไม่สบายใจ เครียด ตื่นเต้น เวลาที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก แต่คนที่เป็นโรค social phobia จริงๆ นั้นมีน้อยกว่าคนทั่วไปที่เป็นแค่ phubberหรือ คนที่มีพฤติกรรม phubbing

อีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของคนส่วนใหญ่ คือ เป็นลักษณะของการติดต่อกันทางพฤติกรรม เช่น กลุ่มเพื่อนไปกินข้าวกัน 4 คน ตอนแรกอาจจะมีแค่ 1-2 คนที่ควักโทรศัพท์มือถือมาเล่น โดยที่ไม่คุยกับเพื่อนที่เหลือ สักพักหนึ่งคนที่เหลืออยู่ก็จะทำตามแม้ว่าตอนแรกอาจจะไม่ได้ต้องการ phubbingเหมือนกับการเป็นโรคติดต่ออย่างหนึ่ง แต่เป็นโรคติดต่อทางพฤติกรรม หรือเป็นเพราะว่าบทสนทนนั้นมันเริ่มน่าเบื่อลงแล้ว หรือเริ่มทำให้รู้สึกอึดอัด

ผลกระทบ  

ถ้าหากปรากฏการณ์  Phubbingดำเนินต่อไปเรื่อยๆสังคมจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ เพราะยังไม่มีการทำวิจัยในเรื่องนี้ แต่มีวิจัยงานหนึ่งในต่างประเทศที่นำคนแปลกหน้ามา 74 คน แล้ว จับคู่กัน ให้ต่างฝ่ายต่างคุยอะไรกันก็ได้ เพื่อทำความรู้จักอีกฝ่ายหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ให้ กลุ่มหนึ่งจะมีกระดาษโน้ตวางไว้ และกลุ่มหนึ่งมีโทรศัพท์มือถือวางไว้ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับโทรศัพท์ เมื่อหมดเวลาพบว่า กลุ่มที่มีโทรศัพท์มือถือวางไว้มีการพูดคุยกันน้อยกว่า และสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันแย่กว่า กลุ่มที่มีกระดาษโน้ตวางไว้

 

คนที่ได้ชื่อว่าเป็น phubberหรือคนที่ทำพฤติกรรม phubbingมากๆ ได้แก่ คนในวัย 20-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างคล่องแคล่ว แต่ว่าตอนนี้ก็เริ่มระบาดไปยังกลุ่มคนที่มีอายุมาก กับกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอาจจะดูเหมือนเป็นพฤติกรรมที่ใครๆก็ทำกัน แต่มันมีผลเสียมากกว่าผลดี คนที่ถูกทำ phubbingใส่ก็มักจะรู้สึกว่าไม่พอใจ รู้สึกอึดอัด และรู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้เกียรติกันอย่างรุนแรง

ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่ามันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยในต่างประเทศก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่จะหยุดพฤติกรรมนี้ อย่างในออสเตรเลีย ก็มีแคมเปญ stop phubbingเพื่อรณรงค์ให้คนกลับมาเชื่อมโยงพูดคุยสื่อสารกันจริงๆ มากขึ้น เงยหน้าขึ้นมาจากจอโทรศัพท์และหันกลับมามองกันและกันให้มากขึ้น ส่วนในประเทศไทย ก็เริ่มมีคนพูดถึงเรื่องนี้กันบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร

ปัจจุบันนี้ถึงแม้เราจะมีเทคโนโลยี มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการติดต่อสื่อสารที่ดีขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้คนเชื่อมโยงระหว่างกันและกันทางอารมณ์หรือจิตวิญญาณมากขึ้นเลยแม้แต่นิด  

ถ้าหากคุณกำลังทำพฤติกรรม "ฟับ" อยู่ ถึงเวลาที่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วหละ ช่วยละสายตาจากจอมามองหน้าสบตาผู้คนรอบข้างบ้าง ช่วยให้ความหวังกับสังคมที่เราอยู่ว่า เรายังเป็นสังคม "มนุษย์" อยู่นะไม่ใช่สังคม "ชนเผ่าหัวก้ม"(จากบทความของ รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล และนส.เสาวภาคย์ ทวีสุขคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)

ทำลายความเป็นมนุษย์

อุปกรณ์ (gadgets) ที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อสื่อสารเชื่อมต่อกันทุกวันนี้ อย่างเช่น Smart phone และ Tablet ทั้งหลายกำลังทำลายความเป็นมนุษย์ (dehumanization) ที่เป็นสัตว์สังคมไปแล้ว ทำให้มนุษย์หยุดที่จะสนใจโลกที่แท้จริง (real world) ที่อยู่รอบกาย แล้วทุ่มเทความสนใจให้กับโลกเสมือน (virtual world) ที่บรรจุอยู่ในเครื่องมือเหล่านั้น ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคนที่รักกัน ทั้งญาติมิตร เจ้านายและลูกน้อง อยู่ในห้องเดียวกันไม่คุยกัน ก้มหน้าเล่นไลน์และเฟซบุ๊ก นัดหมายกัน พออีกคนมาถึงก็ไม่มอง ไม่รู้ว่ามาถึงแล้ว เพราะก้มหน้าก้มตาสนใจข้อความและภาพที่เขาส่งมา และตนเองส่งไป ไปกินข้าวก็ไม่สนใจดูเมนู ต้องเช็กอินก่อน อาหารมาก็ไม่กิน ไม่หยุดการสื่อสาร ไม่เงยหน้า ไปไหนมาไหนด้วยกันไม่พูดคุยกันแล้ว ไม่ชี้ชวนดูโน่น ดูนี่ ดูนั่น ว่าสวย ว่างามเพียงใด ต่างคนต่างไป selfieกันไปเรื่อยๆ เดินไปไหนก็ช้าเพราะหยุด selfieกันตลอดทาง กลับมาที่พักก็ไม่คุยกันแล้วว่าชอบอะไร สนุกตรงไหน จะต้องมาจัดภาพ ส่งภาพ พร้อมส่งข้อความอีกหลายชั่วโมง ไม่สนใจคนที่ไปด้วย ไม่มีบทสนทนาของการแชร์ประสบการณ์กันแล้ว

การเป็นสังคมก้มหน้า บ้าไลน์และเฟซบุ๊ก ลดประสิทธิภาพของการทำงาน เพราะมัวแต่ใส่ใจข้อความและรูปภาพที่ส่งถึงกัน ทำงานไป เล่นเฟซบุ๊กไป เล่นไลน์ไป มีข้อความเข้ามาก็ต้องหยุดทำงานมาอ่านก่อน แล้วก็ต้องตอบอีก เวลาจะออกไปไหน พอบอกว่า "ป๊ะไปเถอะ" จะไปไม่ได้ทันที เพราะยังอ่านไม่จบ ยังไม่ได้ตอบ ต้องตอบให้จบก่อนจึงจะลุกจากที่นั่ง ไม่ค่อยคิดว่าจะทำงานอะไรดี เอาแต่คิดว่าจะเขียนถึงใครดี ควรจะส่งอะไรไป ใช้เวลาในการ selfieแล้วส่งไปพร้อมข้อความมากกว่าที่จะคิดว่าจะเอางานอะไรมาทำ ใช้เวลาทำงานไปเล่น social media เสียงานเสียการไปหมด ประสิทธิภาพในการทำงานและความเอาใจใส่งานลดลง ใช้เวลาไปกับความสนุกส่วนตัว

 

สังคมก้มหน้าก่อให้เกิดพฤติกรรมสาธารณะที่ไร้มารยาท น่ารำคาญ เดินไป เล่นโทรศัพท์ไป ไม่ดูทาง เดินช้าขวางทางชาวบ้าน เล่นไลน์และเฟซบุ๊กในโรงหนัง แสงหน้าจอรบกวน ยืนเข้าคิวไม่เดิน มัวแต่ก้มดูข้อความ ลิฟต์มาไม่เข้าไป ถึงชั้นที่จะไป ลิฟต์เปิดไม่ออก ที่น่ากลัวคือขับรถ ขี่มอเตอร์ไซค์ แล้วก้มอ่านไลน์ อ่านข้อความในเฟซบุ๊ก ควบคุมยานพาหนะมือเดียว ตาไม่มองทาง เกิดปัญหามาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้บทเรียนกันเลย ยังคงทำเหมือนเดิม

เครื่องมือพวกนี้เป็นการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ถ้าหากเรารู้จักใช้ แต่หากใช้กันแบบเสียสติ เราจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม จะเป็นคนไร้มารยาท และจะเป็นคนที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะให้ความสำคัญกับ communication and connectivity ในโลกเสมือนมากกว่าคนที่เป็นเลือดและเนื้อที่อยู่เบื้องหน้าในโลกที่แท้จริง

เรียกสติกลับมาบ้างเถิด ใช้กันแต่พอเหมาะพอดี อย่าใช้จนทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เราควรจะรักและใส่ใจ อย่าใช้จนทำลายประสิทธิภาพในการทำงาน อย่าใช้จนทำให้กลายเป็นคนมีพฤติกรรมสาธารณะที่น่ารังเกียจ อย่าใช้จนชีวิตตนเองและผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย อย่าหลงโลกเสมือน อย่าสร้างความเจิดจรัสให้ตนเองด้วยภาพ selfieจนเกินพอดี การกระทำบางอย่างไม่จำเป็นต้องเล่า เก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัวบ้างก็ได้นะ

ถึงเวลาที่คุณควรที่จะใส่ใจ สนใจคนที่คุณรู้จักและรักคุณ ที่อยู่ข้างกายคุณในโลกความเป็นจริง ให้มากกว่าคนที่คุณรู้จักเพียงชื่อและได้เห็นรูปจากจอกระจกหกนิ้ว ใส่ใจคนที่ห่วงหาอาทรคุณให้มากกว่าคนที่คุณไม่เคยได้ยินเสียงและไม่เคยเห็นแววตาเถอะค่ะ รู้ไว้ด้วยว่ายามคุณอยู่ใกล้เขาคนนั้นที่อยู่ข้างกายคุณโดยที่คุณไม่สนใจเขานั้น มันเป็นความเหงาที่ทำให้เศร้าและรันทดมากกว่าความทรมานที่เขาคิดถึงคุณในยามที่คุณอยู่ไกลเสียอีก It's a feeling of loneliness while being close to a loved one who pays more attention to virtual friends on a screen of 6 inches.

การคุยกับคนข้างกายของคุณนั้น คุณจะได้ยินเสียงสำเนียงพูด คุณจะได้ดวงตาแห่งความรักที่คุณอาจจะลืมไปแล้วตั้งแต่คุณมีเพื่อนเป็นพันๆ คนที่คุณรู้จักผ่านจอกระจกหกนิ้ว ความรักไม่อาจทะลุจอกระจกได้หรอกนะคะ แต่เราสัมผัสรักได้จากลีลาอารมณ์ในการพูดคุย และสัมผัสความห่วงใยที่ทะลุผ่านแววตาของคนข้างกายที่รักคุณได้เสมอ อบอุ่นกว่า

 

คุณเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า การคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้ยินเสียงนั้น นอกจากจะบอกว่าคุณกำลังเหงา ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเหงา และคุณก็ทำให้คนที่รักคุณเหงายิ่งกว่าอยู่บนเกาะเพียงลำพังคนเดียว ลองนึกดูซิคะว่า ตั้งแต่คุณสนใจเพื่อนในจอกระจก มีอะไรบ้างที่คุณไม่ได้ทำร่วมกับคนที่รักคุณ คุณเอาเวลาที่จะทำกิจกรรมกับคนที่รักคุณไปเท่าใดในแต่ละวัน จนกิจกรรมที่จะเติมความรักหายไปจากการดำรงชีวิตของคุณ ลองทบทวนดูนะคะ แล้วถามตัวคุณว่าจะให้เป็นเช่นนี้ต่อไป หรือคุณจะเอาวันวานอันแสนหวานในโลกความเป็นจริงกลับคืนมา

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเบื่อ ก็คือพวกตกเบ็ดและพวกงับเบ็ด พวกตกเบ็ดก็คือ พวกที่ลงรูป selfieเพื่อให้คนเข้ามาอวย ส่วนพวกงับเบ็ดก็คือพวกที่อวยไม่ลืมหูลืมตา สอพลอ ตอแหล ไม่จริงใจ คนตกเบ็ดถ่ายรูปตัวเองเอามาโพสต์ท่านั้นท่านี้ แล้วบอกว่าทำโน่นทำนี่เพื่อให้คนเข้ามาอวย คนที่อวยก็เขียนประโยคเก่าๆ "หล่อจังเลย สวยจังเลย น่ารักจังเลย แบบไหนก็หล่อ ชุดไหนก็สวย หล่อค่ะ สวยค่ะ สุดยอดหล่อเหมือนกันเลย สวยกินกันไม่ลง ทำอะไรก็เก่ง ยังไงก็น่ารัก" ประมาณนี้

ถ้าหากคำที่อวยมันตรงกับความจริงมันก็ยังพอทน แต่บางครั้งคำอวยมันตรงกันข้ามกับภาพที่เห็น ทำให้รู้เลยว่าคนที่อวยนี่ถ้าไม่หลงใหลได้ปลื้มคนเซลฟีแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ก็อาจจะมีต่อมรสนิยมที่เป็นปัญหา หรือไม่ก็เป็นคนสอพลอ ตอแหล และคนพวกนี้แหละคือคนบาป เพราะในที่สุดจะทำให้คนถูกอวยเสียคน กลายเป็นพวกหลงตัวเอง มีปม narcissus ในหัวใจ ไม่รู้จักตัวเองอีกต่อไป คิดว่าตัวเองทำอะไรก็ดีไปหมด

คนพวกนี้เรารับไว้เป็นเพื่อนก็หวังจะได้คุยกันสนุกๆ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ จะ unfriend ก็เกรงใจ ใช้พื้นที่ social media ให้เป็นประโยชน์อย่างถูกทางเถอะนะ อย่าเยอะ อย่ามากไป อย่าดรามากันนักเลยค่ะ.

ที่มา : รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑาอ่านต่อได้ที่: http://www.ryt9.com/s/tpd/2136242)