In News

'รองพิชัย'ขนรัฐ-เอกชนบินถกไทย-สหรัฐ มั่นใจแก้วิกฤตเป็นโอกาสภาษี'ทรัมป์'ได้



กรุงเทพฯ-สรุปจบ..เพื่อทุกอุตสาหกรรมของไทย ในการแก้ปัญหา กำแพงภาษีของสหรัฐฯ รองฯ พิชัย นำทีมภาครัฐ-เอกชน พร้อมบินหารือแนวทางไทย-สหรัฐฯ เชี่อไทยสามารถใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสสร้างการเติบโตให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยยึดประโยชน์ของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยให้มากที่สุด

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 20 ตึก 150 ปี กระทรวงการคลัง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) สภาอุตสาหกรรม กรมศุลกากร รวมถึงภาคเอกชน 

ภายหลังการประชุมฯ ในเวลา 19.00 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงผลการประชุมฯ ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุม ซึ่งประกอบได้ด้วยภาครัฐและเอกชน จากทุกมิติ เพื่อร่วมกันหาแนวทางจากมาตรการการขึ้นภาษีของสหรัฐ ฯ โดยวันนี้ได้ร่วมกัน กำหนดแนวทางในการเจรจา ในหมวดสินค้าเกษตร และการแปรรูปอาหาร เพื่อปรับสมดุลทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สัดส่วนการนำเข้าและส่งออก ให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในฐานะคู่ค้าที่เป็นหุ้นส่วนกันมายาวนาน โดยพิจารณาจากจุดแข็งของสองประเทศ ซึ่งในส่วนของไทย คือ ภาคเกษตรกรรมและการแปรรูป ขณะที่สหรัฐฯ เองมีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและราคาที่ต่ำ 

ประการแรก มีการพิจารณาในอุตสาหกรรมการแปรรูป  โดยรองนายกรัฐมนตรี หยิบยก สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก และไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกได้มากกว่าแสนล้านบาท ปัจจุบัน ไทยส่งออกอยู่ที่ 21 ล้านตัน โดยเป็นพรีเมียมเกรดส่วนใหญ่ และเป็นที่นิยมทั่วโลก แต่ยังคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเพียง 3% ของโลก โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และยังมีส่วนต่างที่ต้องนำเข้าอยู่อีกเกือบ 8-9 ล้านตัน และเมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการส่งออก และเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิต คือ ข้าวโพด  ที่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกมากที่สุด และไทยต้องนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตในประเทศอีก 4 ล้านตัน ดังนั้น ไทยสามารถจัดสรรการนำเข้า หากไทยนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ สามารถผลิตได้มากและต้นทุนต่ำ ดังนั้นหากนำเข้าจากสหรัฐฯ จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยอาหารสัตว์ไทยราคาถูกลงด้วย เมื่อต้นทุนถูกลง จะส่งผลต่อ supply chain ทั้งระบบ คือ ผู้ปลูก ผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ขายอาหารสัตว์ ผู้ส่งให้กับผู้เลี้ยง และทำให้เกษตรการขายได้มากขึ้น สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น เพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากขึ้น โดยเกษตรกรในประเทศไม่ต้องกังวล เนื่องจากจะรับซื้อภายในประเทศตามฤดูกาล และในช่วงที่ขาดแคลนผลผลิต จึงจะมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ ดังนั้น เกษตรกรในประเทศจะไม่กระทบจากการนำเข้า 

นอกจากนี้ จะมีการทบทวนเรื่องการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ให้เท่าเทียมกับประเทศอื่น ในสินค้าชนิดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมการประชุมและผู้นำเข้าสินค้าหมวดนี้ พิจารณาแล้วว่าสามารถนำเข้าได้เลยและเป็นผลดีต่อประเทศ ซึ่งกำลังพิจารณาปริมาณการนำเข้าให้เหมาะสมต่อไป 

ที่ประชุมยังมีการพิจารณาถึงประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจ คือการจัดการอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่อัตราภาษี (Non-tariff barriers) โดยมีการหารือถึงแนวทางที่ทำให้สหรัฐฯ มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งออกจากไทยเป็นสินค้าที่ผลิตในไทยตามเงื่อนไขและลักษณะที่เป็นสากล ไม่มีการสวมสิทธิ์ หรือนำเข้ามาจากประเทศที่สามและนำมาส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจะเพิ่มมาตรการเข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานที่รัดกุมมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปรับปรุงมาตรฐานเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยให้ชัดเจน และลดอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ สำหรับทุกประเทศ ไม่เฉพาะแต่สหรัฐฯ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับสินค้าที่ส่งออกมาจากไทย

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาถึงการนำเข้าของสินค้าอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรรม แต่จำเป็นต้องนำเข้า เพราะประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หรือ สินค้าที่ไทยไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในการประชุมครั้งต่อไป อาทิ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้า ถือเป็นโอกาสทางการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย ทั้งยังมีสินค้าที่ไทยกำลังจะซื้อจากสหรัฐฯ ในอนาคตอยู่แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอการผลิตจากสหรัฐฯ เช่น เครื่องบินโดยสารขนาดกลาง ซึ่งอยู่ในแผนการจัดหาของบริษัทการบินไทย ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบ ต่อไป 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า รัฐบาลไทยจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการเจรจากับสหรัฐฯ โดยมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ เพื่อจัดทำแผนรับมือ และยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนมาตลอด ขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้จากบทเรียนของประเทศต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย 

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางไปสหรัฐฯ และจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาที่ติดขัดอยู่ โดยสิ่งสำคัญ คือ จะไม่ให้กระทบกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศ และรัฐบาลมองเห็นเป็นโอกาส โดยจะปรับปรุงการบริหารจัดการทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการภายในประเทศใช้โอกาสนี้เติบโตไปด้วยกัน ให้สมกับที่ภาคเกษตรกรรมเป็นเสาหลักของประเทศ และเพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกและนำเข้าของประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุด