In Bangkok

2สำนักกทม.แนะนำเฝ้าระวังสังเกตอาการ ดูผลข้างเคียงหลังหายป่วยโควิด



กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์-สำนักอนามัย กทม.แนะเฝ้าระวัง - สังเกตอาการผลข้างเคียง หลังหายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงแนวทางดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการข้างเคียง หลังหายจากอาการป่วย (Post Covid-19 Syndrome) ว่า การดูแลตนเองภายหลังรักษาหายจากการติดเชื้อโควิด-19 กรณีไม่มีโรคประจำตัว ให้ปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันแบบ New Normal กรณีมีโรคประจำตัว ให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวตามปกติ หลังหายจากอาการป่วยโควิด-19 โดยกรุงเทพมหานคร ได้เปิดช่องทางการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ และการดูแลสุขภาพหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังรักษาหายแล้ว ผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หายป่วยและออกจากโรงพยาบาลหลังเข้ารับการรักษาจนครบ 14 วัน หรือกลับมากักตัวที่บ้านจนครบ 14 วัน จัดว่าเป็นผู้ที่พ้นระยะการแพร่เชื้อและอยู่ในระยะที่ร่างกายฟื้นตัว ไม่จำเป็นต้องแยกกักตัว หรือแยกจากคนอื่น แต่ยังต้องสังเกตอาการตนเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากร่างกายยังฟื้นฟูไม่เต็มที่ ส่วนผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบรุนแรง ควรได้รับการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจร่วมกับทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือเพิ่งตรวจพบโรคประจำตัวใหม่เมื่อเข้ารับการรักษา ควรกลับเข้ามารับการประเมินสุขภาพอีกครั้งและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ควรสังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกว่าร่างกายยังอ่อนเพลีย ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม ควรไปตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยที่มีความเครียด อ่อนล้า ควรได้รับการดูแลจากจิตแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ ที่สำคัญผู้ที่หายป่วยแล้ว ยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการ D - M - H - T - T อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายตนเอง และสแกนแอปพลิเคชันไทยชนะเมื่อต้องเข้า-ออกสถานที่ใด ๆ เนื่องจากอาจมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลัง 3 เดือนไปแล้ว จึงจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนหลังหายป่วยจากโควิด-19 ระยะเวลา 3-6 เดือน เพราะภูมิคุ้มกันยังอยู่และช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำได้ แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ไอมาก เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ให้ติดต่อสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์  ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายหลังรักษาหายแล้วยังมีอาการอ่อนเพลีย ไอมาก หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืดเป็นลม แขนขาอ่อนแรง ควรพบแพทย์ เพื่อประเมินอาการเป็นระยะ ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ต้องเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง และสังเกตอาการของตนเอง หากร่างกายยังอ่อนเพลีย ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม ควรกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพอีกครั้ง รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด