Travel Sport & Soft Power
สำนึกพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่9-10 แปลงนาใต้อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย
อุดรธานี- สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดำนารูป ร 9 ทรงงาน สัญลักษณ์ ร 10 หนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
วันที่ 9 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่แปลงนาใต้อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย โครงการปิดทองหลังพระ บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี หลังทราบว่า มีการดำนาเป็นภาพ พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงงาน และ สัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 โดยใช้ข้าว 2 สายพันธ์ ทับทิมชุมแพ ซึ่งมีใบสีเขียว และข้าวเจ้าพันธุ์ที่มีใบสีน้ำตาล-ดำ จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ประเทศฟิลิปปินส์ มาดำนา ผ่านมา 2 เดือน ข้าวเริ่มเจริญเติบโตเขียวขจี เป็นสีพื้นในท้องทุ่งนา เมื่อขึ้นไปดูบนหอคอยก็เห็นต้นข้าวเจ้าพันธุ์ที่มีใบสีน้ำตาล-ดำ วาดลวดลายจนกลายเป็นรูปพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงงาน และสัญลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ทำให้ดูสวยงามโดดเด่น เป็นที่ติดตาตรึงใจ
นายชาลี ศรีสุพล อายุ 59 ปี ครู โรงเรียนบ้านหนองแวงชุมพล ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เจ้าของที่นา เล่าว่า เดิมที่นาแห่งนี้เป็นของพ่อจำนวน 22 ไร่ พ่อแบ่งเป็นมรดกให้ตน 9 ไร่ มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อก่อนทำตามวิถีชาวบ้านทำนาเลี้ยงชีพพออยู่พอกิน หลังโครงการปิดทองหลังพระเข้ามาในพื้นที่ ได้นำระบบน้ำมาให้ ถ้ามีน้ำเราก็ทำเกษตรอื่นได้ ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ คิดพัฒนาพื้นที่ เพราะมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งมั่นให้พสกนิกรอยู่ดีกินดี มีความยั่งยืน ซึ่งตนจะทำตามแนวพระราชดำริของพระองค์ เพื่อสอนลูกหลานให้รู้จักตัวตน มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดี มีข้าวมีอาหาร มีที่ปลอดภัย ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และมีคุณค่ามากที่สุด
ส่วนแปลงนาที่มีการดำนาเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 10 ได้ความอนุเคราะห์จากอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เห็นพื้นที่บริเวณนี้น่าจะสื่อไปยังชุมชนได้ จึงเข้ามาช่วยเหลือออกแบบปลูกข้าว ซึ่งต่อไปตนจะพัฒนาเป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้ใช้ประโยชน์และมีผลผลิตออกทุกฤดูกาล โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จะช่วยเหลือส่งเสริม สนับสนุน เพื่อที่ดินแปลงนี้จะเป็นต้นแบบ ขยายสิ่งที่ดีๆ สู่ชุมชน โดยตนไม่ได้คิดกำไรหรือขาดทุน”
ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เปิดเผยว่า กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ทำในพื้นที่โครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย ตามแนวพระราชดำริ หรือ”โครงการปิดทองหลังพระ” บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี มีกิจกรรมบริการวิชาการ ตั้งแต่ปี 2557 มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่นแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายวิสาหกิจชุมชน หลักสูตรท้องถิ่นเรื่องข้าว การทำบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ในแต่ละปี ซึ่งประชาชนได้นำความรู้ทีมอบให้ นำไปทำการผลิต แปรรูป ปุ๋ย แต่มีปัญหาเรื่องการตลาด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เกษตรกรผลิตได้ ทำบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม แต่ไม่รู้จะไปขายให้ใคร
เคยอบรมการขายออนไลน์ให้ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่ได้ทำต่อเนื่อง ซึ่งจะได้ให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่ถนัดโซเชียลมีเดียมาช่วยอีกแรง
“ปีนี้มหาวิทยาลัย จึงคิดค้นโครงการสนับสนุนให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยมีที่รวมผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพราะตอนนี้เกษตรกรนำผลผลิตไปขายตามตลาดชุมชน หรือสถานที่อนุญาตให้ขายเป็นครั้งคราว ซึ่งจะได้ราคาต่ำ เราจึงคิดสร้างแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อขายให้ประชาชน นักท่องเที่ยว จึงเกิดเป็นกิจกรรมดำนารูปในหลวงขึ้นมา ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีนาข้าวที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ เราจึงเพิ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่ วางแผนปลูกข้าวในรูปแบบที่น่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งออกแบบเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรูปสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ”
ดร.วิบูล เปิดเผยต่อว่า กิจกรรมนี้ ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ ครูชาลี ศรีสุพล ซึ่งมีอาชีพเป็นเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วย ได้มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นจุดท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ลำพังจุดนี้จุดเดียว ก็ไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ จึงวางแผนไว้ในอนาคตว่า ต้องเชื่อมโยงกับจุดท่องเที่ยวที่มีอยู่ในบริเวณรอบๆ เช่น วัดภูตะเภาทอง วัดภูสังโฆ เราต้องจัดกิจกรรมที่มีความท้าทายดึงดูดนักท่องเที่ยว เข้ามาในพื้นที่ให้มากขึ้น
ดร.วิบูล เปิดเผยอีกว่า ซึ่งหลังจากเกี่ยวข้าวไปแล้ว จะเป็นฤดูหนาวก็จะมีกิจกรรมทำกับชุมชน ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเหมืองหนาว พืชผักเมืองหนาว สตอเบอรี่ เมล่อน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เพื่อให้ชาวบ้านนำผลิตผลทางการเกษตรของตนมาขายในบริเวณนี้ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น ประกอบกับในปีนี้ มหาวิทยาลัยมีโครงการยกระดับ เศรษฐกิจและสังคมรายครัวเรือน แบบบูรณาการ หรือเรียกย่อๆว่า โครงการ U2T มหาวิทยาลัยจึงได้ใช้ U2T มาช่วยการขับเคลื่อน กิจกรรมในครั้งนี้ ทั้งมาช่วยดำนาและทำสะพาน เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว คิดว่าน่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจุดนี้ได้
ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ บัวคำ สาขาวิชาทัศนศิลป์ หลักการออกแบบ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เปิดเผยว่า ได้นำแลนด์อาร์ตเข้ามาประยุกต์ใช้กับแปลงนา โดยขั้นตอนแรก ลงพื้นที่ ดูขนาดแปลงนา สภาพอากาศ การไหลของน้ำ มีแผนที่เป็นท๊อปวิว จะวัดขนาดด้วยการตีสเกล ออกแบบในระบบคอมพิวเตอร์ว่า เราจะวางรูปทรงอย่างไร เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 10 เสร็จแล้วลงแปลงนา โดยใช้ชาวบ้าน นักศึกษา มาร่วมกิจกรรมนี้ โดยวางสเกลแล้วปักเป็นเส้นเอาร์ทไลน์ ด้วยข้าวสีดำ หรือดำนาด้วยข้าวสีดำ พื้นที่ข้าวสีเขียวเป็นแบล็คกราว ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เป็นที่สนใจของชาวบ้านเพราะเป็นสิ่งใหม่ ที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำศิลปะเข้ามาช่วย
กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี