Travel Sport & Soft Power

สามีภรรยาเจ้าของร้านซ่อมจจย.ปรับตัวสู้โควิด -19



กาฬสินธุ์ - สองสามีภรรยาอาชีพรับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์ และเครื่องมือการเกษตรสารพัดอย่างปรับตัวในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในส่วนของการทำมาหากิน และการประกอบอาชีพ ซึ่งมีความหลากหลาย แตกต่างกันไป เช่น ในส่วนของผู้ประกอบการหรือร้านซ่อมต่างๆ  ก็ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้ประคับประคองกิจการอยู่ได้

ผู้สื่อข่าวได้พบสองสามีภรรยา ชาวบ้านดอนอุดม เจ้าของร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์การเกษตร ริมถนนสายปากทาง-เขื่อนลำปาว ซึ่งพบว่ายังมีชาวบ้านนำรถจักรยานยนต์และเครื่องมือการเกษตรที่ขัดข้อง มีปัญหา มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง  ต่างกับร้านอื่นๆที่เงียบเหงา หลายร้านปิดกิจการไป เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้าร้าน ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19

นายธวัชชัย ดีจันทร์ อายุ 54 ปี เจ้าของร้าน กล่าวว่า ตนเปิดร้านซ่อมมาประมาณ 15 ปี ซึ่งที่ตั้งของร้านอยู่ริมถนนสายปากทาง-เขื่อนลำปาว ถือเป็นย่านชุมชน มีผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางตลอดวัน โดยเฉพาะเดินทางไปท่องเที่ยวที่หาดดอกเกด เขื่อนลำปาว นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางลัด เชื่อมหลายตำบล หลายอำเภอ  จึงมีลูกค้าแวะมาใช้บริการตรวจเช็ค ซ่อมรถจักรยานยนต์และซื้ออะไหล่ตลอด ทั้งนี้ตนกับภรรยายึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก เพราะไม่มีที่ดินทำกิน โดยเปิดบริการซ่อมทั้งรถจักรยานยนต์ เครื่องมือทางการเกษตรตลอดมา ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000-2,000 บาท

ด้านนางธนภัทร บุญธรรม อายุ 46 ปี ภรรยานายธวัชชัย กล่าวว่า  ในช่วงปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19  กระทบกับอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์การเกษตรเป็นอย่างมาก  บางวันไม่มีลูกค้ามาใช้บริการเลย จึงเกิดไอเดียในการที่จะหารายได้ เพื่อชดเชยค่าซ่อม ค่าขายอะไหล่ที่หายไป โดยช่วงแรกนำเครื่องสีข้าวปิกนิก ที่รับจากโรงงานใน จ.ขอนแก่น มาจำหน่ายในราคาเครื่องละ 12,000-15,000 บาท ตามขนาด ปรากฏว่าขายดี ขายไปได้ประมาณ 10 เครื่อง พอมีกำไร ก็ต่อยอดด้วยการนำเครื่องสูบน้ำ  เครื่องหยอดเมล็ดข้าว เครื่องตัดหญ้า รถพรวนดิน สปอร์ตไลท์ แผงโซลาเซลล์ขนาดเล็ก และอุปกรณ์การเกษตรต่างๆมาวางขาย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า

นางธนภัทร กล่าวอีกว่า หลังจากนำเครื่องมือการเกษตรต่างๆมาเสริมการขาย  ได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างมาก  เนื่องจากเห็นใจชาวบ้านที่เป็นลูกค้า ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 จึงขายราคาถูก ได้กำไรเครื่อง 300-500 บาท ก็พออยู่ได้ เพราะไปรับมาจากแหล่งผลิตโดยตรง จึงมีต้นทุนต่ำ แต่ยืนยันเป็นเครื่องมือหนึ่ง หรือหากจะซื้อสินค้ามือสองก็มีให้เลือก ตามความต้องการของลูกค้า  แถมยังมีบริการหลังการขาย รวมทั้งประกันซ่อมฟรีอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการ การเปิดร้านซ่อมและนำนวัตกรรมทางการเกษตรใหม่ๆ มาเสริมการขาย จึงเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้ามาเข้าร้าน จึงเป็นการปรับตัวเพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาสต่อสู้ภัยโควิด-19 ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการได้เป็นอย่างดี บางวันมีรายได้ถึง  5,000 บาททีเดียว