In Bangkok
'โยธา-จตุจักร'แก้ปัญหาความเดือดร้อน ลงตรวจสอบคอนโดลาดพร้อม18
กรุงเทพฯ- สำนักการโยธาและสำนักงานเขตจตุจักร กทม.ติดตามตรวจสอบการแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในซอยลาดพร้าว 18
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในซอยลาดพร้าว 18 ว่า จากการตรวจสอบการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในซอยลาดพร้าว 18 พบโครงการก่อสร้างอาคารชนิด ค.ส.ล. 7 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ได้รับใบแจ้งการก่อสร้าง ตามแบบ ยผ.4 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 จากสำนักงานเขตจตุจักร ต่อมาได้ยื่นแจ้งก่อสร้าง โดยแก้ไขแบบต่อสำนักการโยธา และได้รับใบแจ้ง ตามแบบ ยผ.4 วันที่ 18 มิ.ย.64 โดยโครงการดังกล่าวได้หยุดการก่อสร้างตามประกาศ กทม.เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 34 และกลับมาก่อสร้างอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ส.ค.64 โดยโครงการได้แก้ไขและเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเสาเข็ม จากเดิมที่เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เปลี่ยนเป็นวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบกับบ้านข้างเคียงได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ได้แจ้งให้โครงการฯ ดำเนินการต่าง ๆ ตามมาตรการที่กำหนดใน EIA อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งโครงการฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุไว้ใน EIA ตามรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ในระยะรื้อถอนและระยะก่อสร้าง ประจำเดือน ม.ค. – มิ.ย.64 ขณะเดียวกันยังได้จัดทำมาตรการเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอาคารพักอาศัยข้างเคียง โดยติดตั้ง Sheet Pile เพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของดินในระหว่างดำเนินการงานเสาเข็ม ติดตั้งระบบสเปรย์น้ำ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ติดตั้งผนังกันเสียงช่วงบริเวณรั้วฝั่งซอยลาดพร้าว 18 แยก 12 และติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณโดยรอบโครงการฯ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า การเปลี่ยนวิธีทำงานเสาเข็มใหม่ เกิดแรงสั่นสะเทือนและความดังของเสียงน้อยมาก รวมทั้งจากการตรวจสอบกรณีที่มีการร้องเรียน พบว่าบ้านของผู้ร้อง เป็นบ้านเก่าที่มีอายุการก่อสร้างและอยู่อาศัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และได้ต่อเติมอาคารออกไปจากตัวบ้านเดิม ทำให้มีรอยร้าวเป็นจุด ๆ ภายในบริเวณบ้านและตัวบ้านตามสภาพอายุการใช้งานของอาคาร ส่วนภายในตัวบ้านเดิมไม่พบความเสียหายในส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคารที่จะก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด มีเพียงรอยร้าวตามผนังและฝ้าเพดานบางส่วน ซึ่งพิสูจน์ได้ยากว่าเกิดจากแรงสั่นสะเทือนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งให้โครงการฯ เข้าสำรวจความเสียหายและซ่อมแซมบ้านใกล้เคียงโครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างคอนโดมิเนียมดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ส.ค.64 เนื่องจากโครงการฯ ยังไม่ได้จัดทำมาตรการลดผลกระทบจากการก่อสร้างให้ครบถ้วนตาม EIA และยังไม่ได้แก้ไขแบบแปลนรายการประกอบแบบแปลนให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บริษัทฯ จึงได้ขออุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งในขณะนี้สำนักงานเขตฯ อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร เพื่อส่งให้คณะกรรมการพิจารณาอุทรณ์ กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาวินิจฉัย สำหรับกรณีปัญหาค่าแรงสั่นสะเทือนสูงกว่าที่กำหนด สำนักงานเขตฯ และสำนักการโยธา กทม.จะลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้แจ้งให้บริษัทฯ ปฏิบัติตาม EIA โดยเคร่งครัดและจะตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป