In Thailand

สจ.กาฬสินธุ์เร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่าย ธนาคารน้ำใต้ดิน



กาฬสินธุ์ท - จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเติมน้ำใต้ดิน ธนาคารน้ำใต้ดิน ตามหลักวิชาการ” ตามโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเติมน้ำใต้ ประจำปี 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ห้องประชุมทศพร  โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเติมน้ำใต้ดิน ธนาคารน้ำใต้ดิน ตามหลักวิชาการ” ตามโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเติมน้ำใต้ดิน ประจำปี 2564 ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์จัดขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายธนาคารน้ำใต้ดินในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน โดยมีนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ร่วมโครงการ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ มีเป้าหมาย ในการพัฒนาให้ จ.กาฬสินธุ์ มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ท่องเที่ยววิถีใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ในส่วนของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประธาน เป้าหมายปีละ 3,000 ไร่ จึงจำเป็นต้องรักษาดุลยภาพระหว่างการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาล โดยให้สัดส่วนกับปริมาณการเติมน้ำลงชั้นน้ำบาดาลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ด้านนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าตามแนวทางการปฏิบัติราชการ 11 ประการ ของท่าน ผวจ.กาฬสินธุ์ ประการที่ 6 ทรัพยากรต้องรักษา มุ่งเน้นส่งเสริมการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อจัดการน้ำเสียในครัวเรือน ดังนั้น เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล และแนวทางการพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ดังกล่าว ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุเป้าหมายและส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวทางธนาคารน้ำใต้ดินในการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม  รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง 18 อำเภอ โดยอบรม 2 รุ่น รวม 320 คน