Travel Sport & Soft Power

วธ.นครปฐมลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน



นครปฐม - สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและเก็บข้อมูลแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืนต่อไป

วันที่ 26 กันยายน 2564 เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม  กระทรวงวัฒนธรรม นำโดย ดร.สุดารัตน์ พงศ์อัมพรไกวัล วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยนางสาวอรพร คัมภีรศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม และบุคลากรในสังกัด ลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจและเก็บข้อมูลแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน และห้องสมุดชุมชน ในมิติทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพและความพร้อม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นพื้นที่แห่งการศึกษาเรียนรู้ข้อมูลสารสนเทศ องค์ความรู้ และประสบการณ์ตามอัธยาศัย เสริมสร้างความรู้ความคิดของคนทุกช่วงวัย และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาบุคคล สังคม และประเทศชาติ

จังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ดำเนินการเก็บข้อมูลรายละเอียดแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และห้องสมุดชุมชนโดยดำเนินการส่งข้อมูลแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพและความพร้อม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 
1) แหล่งเรียนรู้ลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ-แม่ศรีนวล อำเภอดอนตูม โดยนางศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะพื้นบ้าน-ลำตัด)  2) แหล่งเรียนรู้หอศิลป์ศาลเจ้า-หอศิลป์วิจิตร อำเภอพุทธมณฑล  โดย ดร.วิจิตร อภิชาติกรียงไกร  ศิลปินอิสระ

ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดห้องสมุดชุมชน ที่มีศักยภาพและความพร้อม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) เรือนมหาสวัสดี โดย ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี  หอประวัติศาสตร์ คติชนวิทยาและวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง - ภาคตะวันออก  อำเภอพุทธมณฑล และ 2) ห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ตลาดน้ำคลองมหาสวัสดิ์ (บ้านศาลาดิน) โดย อ.วันชัย สวัสดิ์แดง ประธานชุมชนบ้านศาลาดิน  อำเภอพุทธมณฑล  

สืบเนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรม กำหนดดำเนินการคัดเลือกแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน และห้องสมุดชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  เพื่อคัดเลือกแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนและห้องสมุดชุมชนในมิติทางวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพและความพร้อมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นพื้นที่แห่งการศึกษา เรียนรู้ ข้อมูลสารสนเทศ องค์ความรู้และประสบการณ์ตามอัธยาศัย เสริมสร้างความรู้ ความคิด ของคนทุกช่วงวัย และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาบุคคล สังคมและประเทศชาติต่อไป