In Bangkok

กทม.ให้การต้อนรับอุปทูตของอิสราเอล รักษาการเอกอัครราชทูตประจำปท.ไทย



กรุงเทพฯ-กทม.ให้การต้อนรับอุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย นางออร์นา ซากิฟ (Ms. Orna Sagiv)

(30 ก.ย.64) เวลา 10.00 น. : นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นางออร์นา ซากิฟ (Ms. Orna Sagiv) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัวในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทยและเชิญรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายเกรียงยศ สุดลาภา) กล่าวสุนทรพจน์ในงาน International Broadcast รูปแบบออนไลน์ในวันที่ 20 ต.ค.64 โดยมี นายอาเรียล ไซด์แมน (Mr. Ariel Seidman) รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต เลขานุการเอก และรองผู้สังเกตการณ์ถาวร คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี ณ ห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร ในการนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหนังสือซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (Arches Honoring the Royal House of Chakri)  และชุดของที่ระลึกให้แก่อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย


ทั้งนี้ ประเทศไทยกับรัฐอิสราเอล ได้สถาปนาความสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2497 (ปัจจุบัน (ปี 2564) ครบรอบ 67 ปี) ทางการทูตกับไทย และมีความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ได้แก่ 1. ด้านความสัมพันธ์ทางการทูต ผู้แทนคนแรกของประเทศอิสราเอลในประเทศไทยคือ นายแพทย์เปเรซ จาคอบสัน ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิติมศักดิ์ พ.ศ.2496 โดยให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวอิสราเอลราว 200 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2497 และมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเมื่อได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2501 โดยมีนายมอร์เดคาย คิดรอน เป็นเอกอัครราชทูตอิสราเอลคนแรกประจำประเทศไทย จากนั้นได้มีการเปิดสำนักงานทูตพานิชย์ในอิสราเอลในปี พ.ศ.2531 และเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2539  ดร.รณรงค์ นพคุณ ยื่นพระราชสารตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำอิสราเอลแก่ประธานาธิบดีเอเซอร์ ไวซ์แมนน์  

2. ด้านเศรษฐกิจ ได้มีการก่อตั้งหอการค้าไทย-อิสราเอล เมื่อ พ.ศ. 2533 ซึ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจและทำให้อัตราการค้าระหว่างประเทศมีการขยายตัว ที่ผ่านมาไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปอิสราเอลที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ข้าว รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอิสราเอลที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ยุทธปัจจัย และเครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์และการทดสอบ เป็นต้น 3. ด้านการท่องเที่ยว  ในปี 2536 ข้อตกลงทางการบินมีผลบังคับใช้ โดยสายการบินอิสราเอล “แอล อัล” เริ่มบริการเที่ยวบินมายังประเทศไทยอันเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทย ทั้งนี้อิสราเอลยังได้รับยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa) ในการเดินทางเข้าประเทศไทยอีกด้วย นักท่องเที่ยวอิสราเอลเดินทางมาไทยจำนวนมากเป็นประจำทุกปี ปีละประมาณ 100,000 คน นับเป็นอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง  4. ด้านแรงงาน  แรงงานไทยในภาคการเกษตรเป็นที่ต้องการของอิสราเอลเป็นอย่างมาก กระจายตาม ชุมชนการเกษตร (Kibbutz หรือ Moshav) ทั่วอิสราเอล โดยได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานในอิสราเอลเพียงชั่วคราว และมีการหมุนเวียนเข้าออกอิสราเอลอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้รัฐบาลของสองฝ่ายกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐ เพื่อให้มีการจัดส่งแรงงานไทยผ่านองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) แทนบริษัทจัดหางาน 5. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทยและรัฐอิสราเอลที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือในด้านการแพทย์ ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นอกจากนี้ภายใต้กรอบการหารือ Working Group Dialogue (WGD) นำไปสู่การริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างอิสราเอลในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการปศุสัตว์กับกรมปศุสัตว์ของไทย ความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับหหน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม การค้า และแรงงานของอิสราเอล และ 6. ด้านการเกษตรและชลประทาน ประเทศไทยและรัฐอิสราเอลอยู่ในระหว่างการเจรจาด้านการจัดการน้ำและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวให้แก่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเสนอให้เป็นความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างอิสราเอล สถาบันแม่โขง และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics) และระบบการชลประทาน