In Bangkok

สำนักสิ่งแวดล้อมจัดการดูแลขยะติดเชื้อ จัดเก็บเฉพาะค่าธรรมเนียมขนย้าย



กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.บริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ-จัดเก็บเฉพาะค่าธรรมเนียมการเก็บขน

 นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงการกำกับดูแลค่าบริการจัดเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้อัตราค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าธรรมเนียมเก็บและขนสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ.2546 โดยอัตราค่าธรรมเนียมเก็บและขนมูลฝอยติดเชื้อจะคิดจากน้ำหนัก กรณีไม่เกิน 2 กิโลกรัม/วัน คิดเดือนละ 300 บาท  หากเกิน 2 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 2 กิโลกรัม หน่วยละ 300 บาท/เดือน หากเป็นการให้บริการจัดเก็บมูลฝอยติดเชื้อแบบครั้งคราว จะกำหนดค่าขนส่งอัตราเริ่มต้น 2,000 บาท/ครั้ง รวมกับการคิดค่าธรรมเนียมตามปริมาณมูลฝอยติดเชื้อในอัตรา 400 บาท/มูลฝอยติดเชื้อทุก ๆ 75 กิโลกรัม ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ กทม.จัดเก็บในปัจจุบันจะมีเฉพาะการเก็บขนเท่านั้น ขณะที่ค่าธรรมเนียมกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบ ยังไม่ได้เรียกเก็บจากผู้รับบริการ ส่วนการให้บริการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตให้เอกชนดำเนินการเป็นธุรกิจแต่อย่างใด

สำหรับการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ กทม.มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ภายใต้การควบคุมดูแลของ กทม. ดำเนินการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อจากสถานบริการการสาธารณสุขในเขตกรุงเทพฯ พร้อมทั้งนำมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยของ กทม. ซึ่งมีขีดความสามารถกำจัดมูลฝอยติดเชื้อรวม 70 ตัน/วัน โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เป็นผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บและขนมูลฝอยติดเชื้อจากสถานบริการการสาธารณสุขผู้รับบริการ แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงเทพฯ สูงกว่า 10,000 ราย/วัน และมีผู้รักษาตัวในสถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ศูนย์พักคอย ตลอดจนการพักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) เป็นจำนวนมาก กทม.จึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจัดเก็บมูลฝอยติดเชื้อ โดยให้สำนักงานเขตจัดรถเก็บขนมูลฝอยเฉพาะ เพื่อจัดเก็บรวบรวมมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทีมผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อเร่งด่วน ซึ่งแต่งกายด้วยชุดและสวมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค (PPE) เพื่อเก็บมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างทันท่วงที นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนทราบวิธีการแยกทิ้งมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 ออกจากมูลฝอยทั่วไป รวมถึงแนวทางการจัดเก็บและวิธีการทำลายเชื้อโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอีกด้วย