In Thailand

จังหวัดร้อยเอ็ดประชุมชี้แจงข้อราชการ สำคัญเร่งด่วนของจังหวัด



ร้อยเอ็ด - จังหวัดร้อยเอ็ดประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญเร่งด่วนของจังหวัด ณ ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายนายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญเร่งด่วนของจังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนหน่วยทหาร ตำรวจ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้กล่าวเน้นย้ำในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. จังหวัดร้อยเอ็ดมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย ต้องเฝ้าระวังเตรียมความพร้อมรับมือมวลน้ำที่ไหลผ่านลำช้ำชีมาจากจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งปัจจุบันถึงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นแล้ว โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานจะต้องสนับสนุนช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะพื้นที่ 8 อำเภอเสี่ยง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งสรรพกำลังต่างๆ และต้องดำรงการติดต่อสื่อสารตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย และจัดเตรียมศูนย์พักพิง นอกจากนี้ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้การสนับสนุนพื้นที่ด้วย และในส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานการณ์การร่วมกัน และที่สำคัญต้องปฏิบัติการตามมาตรการ  D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด พร้อมกับการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ 

2. เรื่องหลักการทำงาน มุ่งเน้นให้เกิดการประสานงาน การสนับสนุนซึ่งกันและกัน เน้นการมีส่วนร่วมในการทำงาน การสนับสนุน ช่วยเหลือ ทำงานแบบบูรณาการ โดยใช้กลไกคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่ตั้งขึ้น  ในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน และในเวทีการประชุมต่างๆ ขอให้ ทุกส่วนราชการได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มุ่งทำงานแบบหุ้นส่วน การเสนอหนังสือราชการต่างๆ หัวหน้าส่วนราชการต้องกลั่นกรองเรื่องอย่างละเอียด รอบคอบ โดยต้องรู้รอบ ทั้งข้อเท็จจริง ข้อมูล ข้อกฎหมาย หารือกับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ชัดเจน ก่อนเสนอรองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดตามลำดับ การเสนอหนังสือราชการ เรื่องด่วน ด่วนมาก ด่วนที่สุด และเรื่องทั่วไป ที่จะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ทราบ เห็นชอบ ดำเนินการผลักดัน ขออย่าเก็บเรื่องไว้นาน ให้รีบนำเสนอ โดยเรื่อง ด่วน ด่วนมาก ด่วนที่สุด ให้เสนอภายใน 24 ชม. เรื่องทั่วไป ขอภายใน 3-5 วัน สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ถ้าเป็นเรื่องที่เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด.รับทราบด้วย และขอให้ดูเรื่องความเร่งด่วนของหนังสือด้วย 

3.เรื่องการมอบอำนาจ ให้ยึดตามคำสั่งการมอบอำนาจฉบับเดิม ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงแก้ไขคำสั่งโดยจะเน้นให้ความสำคัญเรื่องความกระชับ คล่องตัว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะดูเรื่องการบริหารงานบุคคล ทั้งการบรรจุ แต่งตั้ง โอน ย้าย ให้ความดีความชอบ และในเรื่องของการอนุญาต การลา ในระดับหัวหน้าส่วนราชการ  

4.เรื่องการบริหารราชการพื้นที่  ซึ่งนายอำเภอถือเป็นหัวใจหลักของการบริหารราชการพื้นที่ สำหรับงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น ขอให้นายอำเภอแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้นายอำเภอทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้ว่าราชการจังหวัดในระดับอำเภอ และใช้กลไกการทำงานของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาสนับสนุนงาน นายอำเภอถือเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติในระดับพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะภารกิจของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการขับเคลื่อนงานของกระทรวง กรมต่างๆ ที่นำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ด้วย หัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงานต่างๆ ต้องติดตาม กำกับงานที่ได้มอบ/แจ้งเวียนไปยังพื้นที่ด้วย และต้องสนับสนุนนายอำเภอและพื้นที่ในการขับเคลื่อนภารกิจให้ประสบผลสำเร็จ กรณีเรื่องที่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัด เช่น การบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงเรื่องการขับเคลื่อน ITA และเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่างๆ ถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องดำเนินการแก้ไข และนำมาสู่การถอดบทเรียน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไป อีกทั้งเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ โดยเฉพาะงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญ และกำหนดให้มีการสรุปรายงานผลการดำเนินการเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประจำทุกวัน และเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ต้องดำเนินให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน และต้องรายงานความคืบหน้าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบ สำหรับเรื่องข้อร้องเรียนต่างๆ ของพื้นที่ เช่น ถนนชำรุด ที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบ โดยขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักกรณีถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หากเกิดกรณีเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ขอให้รีบรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบก่อนสื่อมวลชนจะนำไปเสนอข่าว และเจ้าของพื้นที่โดยเฉพาะนายอำเภอพื้นที่ต้องตอบคำถามให้ได้ ต้องรู้พื้นที่ อย่าให้มีจุดอ่อน และต้องใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ขอให้รีบรายงาน และต้องรีบดำเนินแก้ไขอย่าให้เกิดปัญหา กรณีมีการนำเสนอข่าวสารของพื้นที่โดยเฉพาะปัญหาหรือข้อร้องเรียนต่างๆ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social) ขอให้หัวหน้าส่วนราชการและนายอำเภอที่เกี่ยวข้องต้องรีบรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเร็ว ให้มีการตั้งกลุ่มไลน์ (Line Group) เป็นการเฉพาะขึ้น (official Line) เพื่อการติดต่อสื่อสารแบบเป็นทางการเฉพาะเรื่องราชการและมีความสำคัญ จะใช้ไลน์ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดในการติดต่อสื่อสาร ให้แต่ละส่วนราชการสำรวจงานในความรับผิดชอบว่ามีงานค้าง งานสำคัญ และต้องรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบเรื่องใดบ้าง โดยให้เวลาดำเนินการภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมทั้งพิจารณางานสำคัญที่แต่ละส่วนราชการต้องทำในพื้นที่และที่กรม/กระทรวงต้นสังกัดเน้นหรือให้ความสำคัญ โดยขอให้นำเสนอ ผู้ว่าราชการจังหวัดถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวว่าสำคัญอย่างไร และคนร้อยเอ็ดจะได้ประโยชน์อะไร หากสำคัญจังหวัดจะได้สนับสนุนผลักดันต่อไป และขอให้หัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงาน สอดส่อง กำกับ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดี โดยเฉพาะเรื่อง เงิน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย อย่าให้เกิดกรณีประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ โดยขอให้มีการวางระบบการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม ให้ดี  

5.เรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด จังหวัดจะให้ความสำคัญเป็นเรื่องหลัก มุ่งวางระบบบริหารจัดการที่รองรับได้ ต้องปราบปราม บำบัด ตัดช่องทางให้มากที่สุด ขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกัน ฝากย้ำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งที่ทำการปกครองจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด ดำเนินการใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่องยาเสพติด เจ้าหน้าที่ของรัฐ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง 2) เรื่องบ่อนการพนัน ยังไม่อนุญาตให้เปิดและห้ามมิให้มีการลักลอบเล่นการพนัน ต้องมีการกวดขัน จับกุม เรื่องบ่อนการพนันอย่าให้มีเด็ดขาด  

6.เรื่องการประชุม ขอให้ทุกส่วนราชการเน้นเรื่องความตรงต่อเวลา การประชุมใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานการประชุมขอให้หัวหน้าส่วนราชการเจ้าของเรื่องเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานการประชุมแทน หากหัวหน้าส่วนราชการเจ้าของเรื่องไม่ติดราชการสำคัญขอให้ เข้าประชุมด้วยตนเอง