In Thailand

หน่วยงานสังกัดกรมประมงให้คำแนะนำเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลากระชังในช่วงน้ำหลาก 



มหาสารคาม – ประมงจังหวัดพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกติดตามสถานการณ์น้ำในพื้น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแนวทางการดูแลกระชังเลี้ยงปลา ในช่วงน้ำหลาก และหลังน้ำลด พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการเยียวยาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผิดกระทบ

นายสมพร  รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดมหาสารคาม นายพงศ์เทพ  จันทรชิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ออกติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ตำบลโพนงาม ตำบลหนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแนวทางการดูแลกระชังเลี้ยงปลา ในช่วงน้ำหลาก และหลังน้ำลด พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการเยียวยาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผิดกระทบ แก่กำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่ตำบลหนองบัว และตำบลโพนงาม เบื้องต้นกลุ่มเกษตรกรยังไม่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพน้ำที่ไหลผ่านในแม่น้ำชี ยังสามารถเลี้ยงปลานิลในกระชังได้ ทั้งนี้ได้ย้ายกระชังทั้งหมดเข้าริมฝั่งทั้งหมดไม่ให้ไหลไปกับน้ำแล้ว และเกษตรกรผู้เลี้ยงควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของน้ำที่จะมีผลต่อการกินอาหารลดลง จึงควรปรับปริมาณการให้อาหารในแต่ละมื้อลง โดยให้อาหารทีละน้อยเท่าที่ปลากินหมด และควรแบ่งจำนวนมื้ออาหารออกเป็นมากกว่า 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารมากขึ้น เนื่องจากปลาต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเพราะต้องว่ายต้านแรงน้ำที่รุนแรงกว่าปกติตลอดเวลา ทั้งนี้ภาวะน้ำแรงทำให้ปลาว่ายน้ำลำบากจึงกินอาหารได้น้อยลง ประกอบกับภาวะความเครียดทำให้ปลามีความอยากอาหารน้อยลง เกษตรกรจึงควรผสมวิตามินซีในอาหารให้ปลากินครั้งละ 3 วัน ในทุกสัปดาห์ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานด้วย

เมื่อภาวะน้ำเริ่มลดลงให้ทำความสะอาดกระชังซึ่งจะมีเศษวัสดุมาติดที่กระชังทำให้กระชังอุดตัน อีกทั้งมักจะมีน้ำที่ค้างอยู่ในทุ่งนาซึ่งเป็นน้ำที่เต็มไปด้วยก๊าซต่าง ๆที่เป็นผลทำให้น้ำเกิดภาวะออกซิเจนต่ำอย่างฉับพลันในบริเวณนั้น ทำให้ปลาตายจากการขาดออกซิเจน เกษตรกรจึงควรสังเกตและต้องเพิ่มออกซิเจนให้ปลาในกระชังอย่างเพียงพอ