Photo Style

ใส่เกียร์ห้าเดินหน้าเชียงคานแซนด์บ็อกซ์ พร้อมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว



เลย - ใส่เกียร์ห้าเดินหน้าเชียงคานแซนด์บ็อกซ์  พร้อมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย.นี้ คาดเงินไหลเข้า 300 ล้านบาท

ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย (สสจ.เลย) มีการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานขับเคลื่อนงานแซนด์บ็อกซ์ เปิดเมืองเชียงคาน รองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อยอดเศรษฐกิจ  

โดยมีนายผดุงศักดิ์  หาญปรีชาสวัสดิ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานที่ประชุม  ซึ่งการประชุมครั้งนี้ดำเนินการทั้งระบบนั่งในห้องประชุมและระบบซูม มีนายแพทย์ปราโมทย์  เสถียรรัตน์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 และนายแพทย์ชาญชัย  บุญอยู่  นานแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย  ผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และสื่อมวลชนรวมประชุมด้วย

วาระการประชุมที่สำคัญประกอบด้วย การรายงานการดำเนินงานและความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมเปิดเมืองท่องเที่ยวรูปแบบ Sand Box อ.เชียงคาน จ.เลย , มาตรฐานการปฏิบัติงานในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ  และการรายงานการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ อ.เชียงคาน 

นางวัชรี แก้วสา หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยฯ สสจ.เลย ในฐานะเลขานุการโครงการฯ กล่าวว่า  ที่ประชุมได้พิจารณาเปลี่ยนชื่อจากโครงการแซนด์บ็อกซ์เปิดเมืองเชียงคาน เป็นโครงการ HUG Loei - Chiang Khan รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และโครงการ HUG Loei - Chiang Khan Plus  พร้อมออกแบบตราสัญลักษณ์ที่บ่งบอกเรื่องราวเส่น่ห์ของเชียงคานและจ.เลย โดยขณะนี้โครงการได้ผ่านการอนุมัติจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  และอยู่ในระหว่างการเสนอขอมติคณะรัฐรัฐมนตรี  หากผ่านความเห็นชอบ ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564  ซึ่งเชียงคานถือเป็น 1 ใน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ นำร่องเปิดท่องเที่ยวระยะที่ 1 

สำหรับการเตรียมความพร้อมโครงการฮักเลย-เชียงคาน HUG Loei - Chiang Khan รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และโครงการ HUG Loei - Chiang Khan Plus ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ เช่น การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ต้องมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง โดยผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น มีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ ด้วยวิธี RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง  ผ่านการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้ว  จะเป็นท่องเที่ยวพร้อมกับการกักตัว จำกัดอยู่ในเส้นทางเท่านั้น ไม่ให้ท่องเที่ยวแบบอิสระ แยกพื้นที่ให้บริการ ไม่ปะปนนักท่องเที่ยวทั่วไป

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดระบบการติดตามตัวนักท่องเที่ยวตลอดเวลาที่อยู่ในโรงแรม มีกล้องวงจรปิดทั่วบริเวณโรงแรม  มีพนักงานของโรงแรม/ที่พัก อยู่ประจำจุด ทั่วบริเวณโรงแรม  เจ้าหน้าที่เวรประจำจากโรงพยาบาลคู่สัญญา ประจำอยู่โรงแรมตลอด 24 ชั่วโมง   สามารถประสานงาน หน่วยกู้ชีพ-กู้ภัยอำเภอเชียงคาน (On call) หากเกิดเหตุฉุกเฉิน  และเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆนอกโรงแรม จะมีตำารวจท่องเที่ยวนำขบวนรถ  , ตำรวจลาดตระเวน ประจำอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว  , พนักงานของบริษัทนำเที่ยว (ไกด์) ดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อย , ติด GPS ในยานพาหนะ , หน่วยกู้ชีพ-กู้ภัยอำเภอเชียงคาน หากเกิดเหตุฉุกเฉิน  , ศูนย์ประสานงานและบริการนักท่องเที่ยว HUG-LCK อำนวยความสะดวกต่อการท่องเที่ยว และ ศบค. เชียงคาน เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้าน COVID-19 โดยขณะนี้ได้ผ่านการตรวจความพร้อม ทั้งสถานประกอบการท่องเที่ยว และผู้ปฏิบัติงานตามโครงการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่จะเดินทางเข้ามาตามโครงนี้ ต้องได้รับวัคซีนมาแล้วครบ 2 เข็ม หรือตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือมีผลตรวจ RT-PCR หรือ ATK ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หากยังไม่ได้ตรวจ ก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลเชียงคาน ศูนย์ตรวจที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเชียงคาน หรือตรวจได้ที่สถานประกอบการท่องเที่ยวของเอกชน โดยที่นักท่องเที่ยวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

มีมาตรการรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีโรงพยาบาลเชียงคานเป็นคู่สัญญา เตรียมรถรับ-ส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน 5 คัน รถกู้ชีพ กู้ภัย 10 คัน เดินทางถึงจุดเกิดเหตุ 1 นาทีต่อ 1 กิโลเมตร  ในระหว่างที่นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ตามโครงการฯ จะมีการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ ATK หรือการตรวจเบื้องต้น เป็นระยะ หากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 100 คนต่อสัปดาห์ หรือมีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ (5 คน/คลัสเตอร์)  หรือมีผู้ติดเชื้อครองเตียงร้อยละ 80 ขึ้นไป หรือพบเชื้อกลายพันธ์ กรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเลยจะมีพิจารณายุติโครงการ ปิดรับนักท่องเที่ยวทันที

ส่วนหัวใจสำคัญในการที่จะผ่านการพิจารณาให้ดำเนินโครงการได้หรือไม่นั้น ก็คือ จำนวนการฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ จังหวัดเลยได้รับการจัดสรรวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีการฉีดให้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลเชียงคานต้องอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 80  ส่วนผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนถนนคนเดินต้องฉีดครบ 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งขณะนี้ฉีดไปแล้วกว่าร้อยละ 60 ช่วงเวลาที่เหลือถึงสิ้นเดือนตุลาคม คาดจะดำเนินการฉีดได้ครบตามเป้าหมาย

หากโครงการฮักเลย-เชียงคาน (HUG Loei - Chiang Khan) ได้ดำเนินการแล้ว คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ในจังหวัดกว่าปีละ 328 ล้านบาท  นักท่องเที่ยวจะมีความมั่นใจในความปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-19  และจะมีคุณค่าด้านจิตใจ ได้รับประสบการณ์ความประทับใจในการมาสัมผัส เรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมของชาวเชียงคาน ได้รับการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย-การแพทย์พื้นบ้าน โดยเน้นที่กัญาชาทางการแพทย์ ได้สัมผัสกับธรรรมชาติภูเขา แม่น้ำโขงอันสวยงาม  และที่สำคัญ การดำเนินโครงการฮักเลย-เชียงคาน  ได้สอดคล้องกับแนวทางตามมาตรฐานที่เชียงคานได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 เมืองน่าเที่ยวทั่วโลก