In Thailand
เปิดศูนย์การเรียนรู้ปลูกไผ่แห่งแรกในจ.ราชบุรี
ราชบุรี - ที่บริษัทวงศ์ไผ่ จำกัด อธิการบดี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อม นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันเปิดศูนย์การเรียนรู้ การปลูกไผ่ “ไผ่ อุตสาหกรรมทางเลือกใหม่” เพื่อยกระดับไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย
วันที่ 28 ต.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริษัทวงศ์ไผ่ จำกัด หมู่ที่ 19 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ดร.สุวิทย์ เตีย อธิการบดี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อม นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ, นายโชคดี ปรโลกานนท์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน, น.ส.ศิริลักษณ์ ตันงามตรง สจ.เขต 2 อ.จอมบึง, นายบุญชัย หวังสาธิต กก.ผจก.บริษัทสินเจริญ ไม้อัดตราเข็มทิศ, นายคมชลัช ทองติ่ง ผู้ก่อตั้งบริษัท วงศ์ไผ่ จำกัด และนายอดิศักดิ์ ขอเจียม ตัวแทนเกษตรกรอ.จอมบึง ได้ร่วมกันเปิดศูนย์การเรียนรู้ การปลูกไผ่ “ไผ่ อุตสาหกรรมทางเลือกใหม่” เพื่อยกระดับไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนส่งเสริมการปลูกไผ่ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายคมชลัช ทองติ่ง ผู้ก่อตั้งบริษัท วงศ์ไผ่ จำกัด ได้เปิดเผยว่า ตนได้ใช้พื้นที่กว่า 20 ไร่ ในการเปิดศูนย์เรียนรู้ การปลูกไผ่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งข้อมูลให้กับเกษตรกรที่สนใจในการปลูกไผ่ พร้อมสนับสนุนส่งเสริมการปลูกไผ่ เพื่อยกระดับไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อสร้างมิติแห่งการศึกษา วิจัย เรียนรู้ในโลกยุคใหม่ กับความร่วมมือแบบจตุรภาคี ที่จับมือกันระหว่างภาคการศึกษา ภาคชุมชน ภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกไผ่ ให้เกิดอุตสาหกรรมการเกษตรแบบยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเพื่อแก้ปัญหาของภาคเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงช่วยส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนให้พึ่งพาตนเองได้
นายคมชลัช กล่าวต่อว่า ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมา ไผ่ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 90 สกุล และ 1,000 ชนิด เฉพาะในประเทศไทย มีไผ่จำนวน 100 ชนิด (species) ไผ่ ถือเป็นปัจจัย 4 มีความสำคัญต่อวิถีของชุมชน เนื่องจากไผ่มีคุณประโยชน์เพื่อบริโภคและใช้สอยอย่างหลากหลาย ไผ่ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บลำไผ่ การผลิตแปรรูปไม้ไผ่ และการขนส่งแปรรูปต่างๆ ทั้งไผ่ยังสามารถพัฒนาเป็นสินค้าส่งออก ทำรายได้ให้แก่ประเทศ จนมีหน่วยงานยกให้ “ไผ่” เป็นสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคตอีกด้วย
นายคมชลัช กล่าวเพิ่มว่า สำหรับพื้นที่ต.ด่านทับตะโก ซึ่งถือเหมาะสมแก่การปลูกไผ่เป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่เป็นดินทราย และพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในต.ด่านทับตะโก ประสบปัญหาพื้นที่ถล่มและถูกน้ำป่ากัดแซะ ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ มีจุดเด่นให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจการปลูกไผ่ เป็นพืชทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกร สามารถลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำเป็นเชิงการค้าได้ เพราะไผ่มีราคาดีพอสมควร สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถ้าเกษตรกรท่านใดสนใจการปลูกไผ่ สามารถมาเรียนรู้ที่ศูนย์แห่งนี้ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. หรือเกษตรกรท่านใดมีพื้นที่แต่ไม่มีทุนทรัพย์ในการจัดซื้อต้นกล้าไผ่ ทางเรายินดีให้ต้นกล้าไผ่ไปปลูกฟรี โดยโทรสอบถามได้ที่เบอร์โทร. 099-4654791
ขณะที่ นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า งานวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคประชาชน เพื่อที่จะนำความรู้มาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรปลูกไผ่รุ่นใหม่ นำไปพัฒนาต่อยอดไผ่ให้มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น ตนในนามของเลขาเกษตรกรแห่งชาติ จะพยายามผลักดันไผ่ให้เป็นพืชที่มีคุณค่า และสามารถนำไปพัฒนาต่อไปได้อีก ซึ่งถ้าเราพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้ เกษตรกรจะได้รับราคาไผ่ที่อาจจะมีถึงลำละ 40 บาท ถ้าปลูก 1 ไร่ จะสามารถสร้างรายได้ถึง 32,000 บาทเลยทีเดียว
สุจินต์ นฤภัย (เต้) จ.ราชบุรี