In News

โอดระงม!สินค้าขยับราคาขี้นตามน้ำมัน ชาวบ้านแปดริ้ววอนรัฐบาลเร่งแก้ไข



ฉะเชิงเทรา-โอดครวญกันดังระงม ข้าวของเครื่องใช้เรียงแถวพากันขยับขึ้นราคาตามน้ำมัน ทำชาวบ้านแปดริ้วสุดกลั้นวอนรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา หลังผลกระทบส่อบานปลายซ้ำเติมความเป็นอยู่ ปชช. ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 อยู่ก่อนหน้า แต่กลับถูกซ้ำเติมรอบด้านจากราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นไม่หยุด ขณะอดีต ผจก.ร้านค้า เผยถูกเลิกจ้างตกงานอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งบ้านทั้งรถยนต์และทรัพย์สินที่เคยสร้างสมไว้จ่อถูกยึดหมดเกลี้ยง

วันที่ 3 พ.ย.64 เวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หลังราคาน้ำมันแพงขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนายสมไชย ตันเถา อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 ม.1 ต.คลองนครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า หลังจากราคาน้ำมันแพงขึ้นมากได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องของการขนส่งและการทำการค้าขาย รวมถึงการเดินทาง ที่เป็นภาระต่อประชาชนมากขึ้น

เนื่องจากราคาน้ำมันขยับขึ้นบ่อยครั้งและถี่มาก ถึงครั้งละ 1-2 บาท แต่เวลาประกาศลดราคาลงกลับลดลงมาแค่ 20-60 สตางค์เท่านั้น เดิมตนเองเคยเติมน้ำมันดีเซลบี 20 จากราคาลิตรละ 17-18 บาท มาถึงขณะนี้ราคาขึ้นไปอยู่ที่ 30 กว่าบาทแล้ว โดยเฉพาะตนนั้นต้องเดินทางไปรับสินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายต่อจากตลาดไทยนั้น ยังพบว่าสินค้าที่รับมาขายในขณะนี้มีราคาขยับแพงขึ้นในทุกๆ เที่ยวที่ไป จากค่าขนส่งที่เริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ

  เช่น สินค้าจำพวกผลไม้เกือบทุกชนิด ทั้งยังทำให้พ่อค้าทำการค้าขายได้ไม่ดีไปด้วย มีผลกำไรต่ำค่าตอบแทนน้อยลง เพราะขายได้ไม่ดีเท่ากับในช่วงก่อนหน้า เหตุจากเมื่อเรารับผลไม้มาในราคาที่แพงขึ้น เราก็ต้องนำมาขายต่อในราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าที่จะซื้อกิน อีกทั้งบางครั้งยังขายในราคาที่ขาดทุนด้วย เนื่องจากผลไม้เมื่อขายไม่ได้ ก็ต้องนำออกมาขายหลายวันและเกิดการเน่าเสีย นายสมไชย กล่าว

ขณะที่ น.ส.ลัดดาวรรณ ประเสริฐวงษ์ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 201/382 ถ.อยู่วิทยา แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กรุงเทพฯ แม่ค้าผลไม้อีกราย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาชมพู่ที่รับมาขายราคา กก. ละ 60-80 บาท เมื่อรับมาขายก็จะขายในราคา กก.ละ 80-120 บาท จากเดิมที่เคยรับมาในราคา กก.ละ 40 บาท และนำมาวางขายปลีกในราคา กก. ละ 60-70 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้น สินค้าทุกอย่างจึงได้ขยับขึ้นตามมาในทันที เป็นเวลานานกว่า 2 เดือนแล้ว

เมื่อต้นทุนของสินค้าขึ้นเราก็ต้องขึ้นราคาขายไปด้วย จึงทำให้ขายของได้ยากมาก ขณะนี้จึงขายของออกไปในราคาที่แทบจะไม่เห็นผลกำไรเลย ทำให้มีรายได้ไม่พอกินพอใช้ในแต่ละวัน ไม่เหมือนเมื่อช่วงสินค้ายังไม่ขยับราคาจากค่าขนส่งที่แพงขึ้นนั้น ยังพอมองเห็นผลกำไรได้บ้าง เพราะคนยังกล้าที่จะซื้อกิน จากเดิมที่เคยขายของได้ในปริมาณมากจึงมองเห็นผลกำไรในแต่ละวัน อย่างน้อย 1,000-2,000 บาท แต่ในขณะนี้ขายของไปยังไม่เห็นผลกำไรเลย 

เนื่องจากของยังขายไม่หมด ก็ต้องรอไปอีกหลายวันกว่าจะขายหมด เท่ากับว่าในแต่ละวันจะไม่เห็นผลกำไรหรือค่าแรงเลย ขณะที่ในแต่ละวันนั้นยังมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทางไปรับสินค้า เที่ยวละ 600 บาท ทั้งยังมีค่าครองชีพ ค่าน้ำค่าไฟรายเดือน เมื่อยังขายของไม่ได้กำไร แต่เราก็ยังมีรายจ่ายที่จะต้องจ่ายออกไป เป็นค่ากินอยู่ในแต่ละวัน จึงต้องกินทุนจากของที่เพิ่งขายออกไปได้ก่อน จึงทำให้ไม่มีกำไรเหลือมานานถึงกว่า 2 เดือนแล้ว

ขณะนี้จึงยังไม่มีเงินที่จะผ่อนส่งค่าบ้านเช่าซื้อในโครงการเคหะฯ บ้านเอื้ออาทร ที่กำลังผ่อนชำระผ่านทางธนาคาร เดือนละ 3,400 บาทติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว อีกทั้งยังมีหนี้สินรายวันที่ต้องส่งอีกวันละ 400 บาท หลังจากที่เพิ่งไปกู้มาลงทุน เพื่อซื้อของมาขายจำนวน 4 พันบาท แต่ต้องส่งรวมกับดอกเบี้ยอีก 1 พันรวมเป็นเงิน 5 พันบาท และจะต้องส่งให้หมดภายใน 24 วัน ถ้าหากหยุดค้าขายก็จะไม่มีเงินกิน จึงหยุดไม่ได้ แม้กระทั่งกับข้าวทั้งหมูไก่ก็ยังขึ้นราคาไปหมดแล้ว

ส่วนโครงการปล่อยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนของทางรัฐบาล ที่ผ่านๆ มานั้น ประชาชนผู้ที่กำลังเดือดร้อนจริงๆ ไม่สามารถยื่นกู้เงินได้ ในหนึ่งร้อยรายจะได้จริงสัก 4-5 รายเท่านั้น ทั้งยังได้มาเป็นเพียงเงินจำนวนน้อย ขณะนี้จึงอยากให้รัฐบาลหาทางเข้ามาควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ขยับแพงขึ้น เพื่อลดความเดือดร้อน รวมถึงคนยังไม่กล้าใช้จ่ายที่จะซื้อกินจากแม่ค้าขายเร่อย่างตนด้วย น.ส.ลัดดาวรรณ กล่าว 

ส่วนด้าน น.ส.ปุยนุ่น (นามสมมุติ) อายุ 35 ปี อดีตผู้จัดการร้านค้าแว่นตาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ กล่าวว่า เดิมตนเคยเป็นอดีตผู้จัดการสาขาฉะเชิงเทรา แต่หลังจากเกิดสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ระบาด เมื่อช่วงกลางปีที่แล้วทางบริษัทได้เข้ามาพูดเพื่อโน้มน้าวและเกลี้ยกล่อมให้เขียนใบลาออก รวมถึงพนักงานทุกคนได้ถูกเรียกเข้าไปพูดคุยแบบรายตัวบุคคล จึงถูกนายจ้างเอาเปรียบโดยไม่ได้รับสวัสดิการหรือค่าชดเชยที่สมควรได้รับตามกฎหมายแรงงานหากถูกเลิกจ้าง

หลังออกมาจากงานแล้วจึงได้ไปรับสินค้ามาวางขาย แบบเปิดท้ายขายริมทาง แต่หลังจากราคาน้ำมันขยับแพงขึ้น จึงทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลับลดลงแบบสวนทางกัน จึงทำให้ลำบากมากขึ้น โดยตนขายขนมเปี๊ยะที่ไปรับมาจากโรงงานใน จ.สิงห์บุรี นำมาขายในราคากล่องละ 180 บาท มีกำไรเหลือเพียงวันละ 200-400 บาท หากวันไหนขายดีจึงจะเหลือกำไร 500-600 บาท แต่ก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน รวมถึงค่าผ่อนบ้านที่เคยซื้อไว้เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ที่ จ.ปทุมธานี 

ก่อนที่จะย้ายมาเป็นผู้จัดการสาขาที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนถึงเดือนละ 9 พันบาท และยังมีค่างวดรถยนต์ในแต่ละเดือนอีกงวดละ 8,200 บาท รวมถึงยังต้องจ่ายค่าเช่าบ้านพักใน จ.ฉะเชิงเทรา อีกเดือนละ 9 พันบาท นอกจากนี้ยังมีหนี้สินจากการใช้บัตรเครดิตด้วย จึงทำให้ขณะนี้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าผ่อนบ้านและรถยนต์และเชื่อว่ากำลังจะถูกตามมายึดไปในไม่ช้านี้ โดยเฉพาะค่าผ่อนบ้านนั้นได้ค้างชำระมานานแล้วถึง 4 เดือน แม้ทางธนาคารจะให้หยุดผ่อนหรือพักชำระหนี้ แต่ดอกเบี้ยกลับไม่ได้มีการพักหรือหยุดนิ่งตามไปด้วย 

โดยมีแต่จะเพิ่มพูนสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จะยิ่งแย่ไปกว่าเดิมเหมือนกับเป็นการมาซ้ำเติมให้เป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการพักชำระหนี้ของทางธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้น ยังคงมีการคิดบวกอัตราดอกเบี้ยเดินหน้าต่อไปในระหว่างที่เราขอพักชำระหนี้ไปด้วย จึงไม่ใช่เป็นการช่วยลูกหนี้แต่มันเป็นเสมือนการซ้ำเติมให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้นไปมากกว่าเดิมอีก 

ขณะที่ค่างวดรถยนต์นั้นได้ขาดส่งมารวม 3 งวดแล้ว ตนจึงคิดว่าคงต้องปล่อยให้ถูกยึดไปเช่นกัน หลังจากรถจักรยานยนต์ได้ถูกยึดไปก่อนแล้ว 1 คัน ส่วนค่าเช่าบ้านนั้นขณะนี้ก็ยังไม่ได้จ่าย เนื่องจากขายของได้กำไรไม่พอกับค่าเช่าบ้านในเดือนนี้ น.ส.ปุยนุ่น กล่าว

และกล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ผ่านมานั้น เป็นการช่วยได้ไม่ตรงจุดโดยเฉพาะในเรื่องของแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ มีการบังคับให้พนักงานเขียนใบลาออกก่อนที่จะปิดบริษัท ไม่ใช่การเลิกจ้าง เงินค่าชดเชยจึงไม่ได้รับ ทั้งที่ทำงานมานาน 4-5 ปี โดยนายจ้างได้ใช้วิธีการเรียกเข้าไปพูดคุยและบีบให้เขียนใบลาออกและปิดกิจการภายในวันเดียวกัน จึงอยากให้รัฐบาลช่วยตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งตนและสามีรวมถึงแรงงานอีกจำนวนมาก ล้วนต่างถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างในลักษณะนี้ น.ส.ปุยนุ่น กล่าว

 สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา