Biz news
DJSIดัชนีความยั่งยืนคัดเลือกกสิกรไทย เป็นสมาชิก6ปีซ้อนแบงก์แรกในไทย
กรุงเทพฯ-ธนาคารกสิกรไทยยึดตำแหน่งในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ ประจำปี 2564 หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2021 ทั้งในระดับโลก (World) และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เป็นธนาคารแรกของไทย ด้วยคะแนนมิติธรรมาภิบาล-เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของกลุ่มธนาคารทั่วโลก และมีคะแนนรวมทั้ง 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ สูงที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มธนาคารทั่วโลก และสูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มธนาคารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ท่ามกลางความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมเดินหน้าร่วมผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศและประชาคมโลก
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ จัดทำขึ้นโดย S&P Global ประจำปี 2564 หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2021 ซึ่งเป็นดัชนีวัดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ทั้งในกลุ่มดัชนีระดับโลก DJSI World และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ DJSI Emerging Markets สำหรับปี 2564 มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกได้รับเทียบเชิญและเข้าร่วมจำนวน 340 แห่ง ทุกธนาคารจะต้องได้รับการประเมินการจัดการที่ยั่งยืนขององค์กรในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ (Environmental Dimension, Social Dimension and Governance and Economic Dimension)
สำหรับผลการประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ประจำปี 2564 ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ DJSI เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2564 โดยปีนี้เป็น 1 ใน 24 ธนาคารชั้นนำที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลก (DJSI World) และเป็น 1 ใน 14 ธนาคารที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีด้านความยั่งยืนกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้รับคะแนนมิติธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มธนาคารทั่วโลก และได้คะแนนรวมทั้ง 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ สูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มธนาคารทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มธนาคารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ 6 ปีติดต่อกันดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่สะท้อนความสามารถของธนาคารในการเดินหน้าบนหลักการความยั่งยืนอย่างมั่นคงในทุกสถานการณ์ แม้ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ การดำเนินธุรกิจเป็นไปท่ามกลางความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป พร้อมกับการดูแลลูกค้าให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติและไปต่อได้ในภาวะปกติใหม่ ธนาคารกสิกรไทยยังคงรักษาหลักการเรื่องการดำเนินธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนไว้เสมอ โดยประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการปฏิบัติงานของธนาคาร จนกลายเป็น กรีน ดีเอ็น เอ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน และเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้มีการประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ตอกย้ำเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของธนาคารในการเดินหน้าการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าและยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง พร้อมร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศและประชาคมโลกให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
เกี่ยวกับ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์
ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) จัดทำขึ้นโดย S&P Global เป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ (Environmental Dimension, Social Dimension and Governance and Economic Dimension) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจระดับโลก รวมทั้งเป็นดัชนีที่กองทุนต่าง ๆ จากทั่วโลกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณาการลงทุน โดยมั่นใจว่าบริษัทที่ได้รับการรับรอง DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน ด้วยเหตุนี้บริษัทในตลาดทุนหลายแห่งทั่วโลกจึงต่างมุ่งหวังที่จะได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับ DJSI ในแต่ละปี สำหรับปี 2564 มีบริษัททั่วโลกกว่า 11,000 แห่ง ที่เข้ารับการประเมิน และมีบริษัทที่ผ่านการประเมินเข้าดัชนี DJSI World ประจำปี 2564 จำนวนกว่า 300 แห่งทั่วโลก โดยการประเมินผลงานผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเป็นแบบปีต่อปี ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำ แต่จะพิจารณาจากมาตรฐานการจัดการเทียบกับบริษัทในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะมีการพัฒนาขึ้นทุกปี ดังนั้น บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกต้องมีผลงานการจัดการด้านองค์กรแห่งความยั่งยืนที่ดีที่สุดเหนือว่าบริษัทแห่งอื่น อุตสาหกรรมละ 10-15% เท่านั้น